ด้วยรักและอาลัย “ดุสิตธานี” หลังเดิม

เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมงาน “ผูกพันด้วยใจก้าวไปกับดุสิต” ที่โรงแรมดุสิตธานี ถนนสีลม

ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อ “ย้อนรำลึกความทรงจำและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ตามที่ระบุไว้ในบัตรเชิญที่ส่งมาถึงผม

เนื่องจากจะมีการรื้อถอนอาคารดุสิตธานีหลังเก่า ผนวกกับการซื้อหรือเช่าพื้นที่บริเวณข้างเคียงให้กว้างขวางออกไปอีก เพื่อสร้าง “ดุสิต เซ็นทรัลปาร์ค” ซึ่งจะเป็นอาคารสูง 78 ชั้น มีทั้งโรงแรมดุสิตธานี+ที่พักอาศัย+อาคารสำนักงาน+ศูนย์การค้าในบริเวณเดียวกัน

โดยจะใช้เงินลงทุนกว่า 36,700 ล้านบาท ร่วมกับกลุ่ม “เซ็นทรัล” ตามข่าวที่เราคงจะทราบกันอย่างดีแล้วก่อนหน้านี้จากรายงานข่าวเช่นกันระบุว่า โรงแรมดุสิตธานี จะให้บริการจนถึงเวลาบ่าย 2 โมง วันที่ 5 มกราคม 2562 นี้เป็นวันสุดท้าย จากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่การรื้อถอนและก่อสร้าง ซึ่งจะใช้เวลา 4 ปี

ดังนั้นในการจัดงานเลี้ยงรับรองเมื่อค่ำวันที่ 20 ธันวาคม แม้ฝ่ายบริหารจะแจ้งให้แขกเหรื่อทราบว่าเป็นงานเลี้ยง “ขอบคุณ” ทุกๆ ฝ่ายที่ให้การสนับสนุนดุสิตธานีมาอย่างดียิ่งพร้อมๆ กับเป็นการ“เฉลิมฉลอง” หรือเป็น “สักขีพยาน” ในการร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายใหม่ที่สดใสและยิ่งใหญ่กว่าในวันข้างหน้า

แต่ในความรู้สึกของแขกเหรื่อจำนวนมาก รวมทั้งผมด้วยกลับรู้สึกเป็นงานที่ชวนให้ “ใจหาย” และ “อาลัยอาวรณ์” อย่างบอกไม่ถูก

เพราะความที่เราคุ้นเคยสนิทสนม หรือจะใช้คำว่า “ชิน” กับ ดุสิตธานี หลังเก่ามานานถึง 49 ปี และยังไม่รู้ว่าดุสิตธานีหลังใหม่จะเป็นอย่างไร จะน่ารักจะอบอุ่นเหมือนเก่าหรือไม่?

โดยส่วนตัวผมเองถือว่าโรงแรมดุสิตธานีเป็น “หมุดหมาย” เล็กๆ หมุดหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยที่เกิดขึ้นและเติบโตมากับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เรามีแผนพัฒนาฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509 มุ่งเน้นการพัฒนาหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว โดยการก่อตั้ง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศ หรือ อสท.ขึ้นในช่วงของแผนนี้ และทางภาครัฐก็มีการก่อสร้าง โรงแรมเอราวัณ ขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน

ผมเข้าใจว่าท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ซึ่งมีโรงแรม ปริ๊นเซส อยู่แล้วที่ถนนเจริญกรุง ก็คงได้ประจักษ์ถึงความเติบโตของธุรกิจนี้ จึงได้ตัดสินใจสร้าง โรงแรมดุสิตธานี ขึ้นในช่วงปลายแผนฉบับที่ 1 จนแล้วเสร็จเปิดดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2513 ประมาณกลางๆ แผนพัฒนาฉบับที่ 2 พ.ศ.2510-2514

จากรูปลักษณ์และเอกลักษณ์ด้วยการนำความเป็นไทยมาผสมผสานกับสากล ประกอบกับความสูงของตึก 23 ชั้น ซึ่งสูงสุดในประเทศใน พ.ศ.นั้น ทำให้ โรงแรมดุสิตธานี กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกรุงเทพมหานครใน พ.ศ.ดังกล่าวเพียงไม่กี่วันที่เปิดให้บริการ

ผู้คนจำนวนมากไปยืนดู หรือถ่ายรูปบริเวณหน้าตึก ผู้คนจำนวนมากแห่ไปขึ้นลิฟต์เพื่อไปรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบนชั้นสูงสุด เพื่อจะดูทิวทัศน์อันสวยงามของ กทม.

คอฟฟี่ช็อปของดุสิตธานีก็ฮิตอย่างเหลือเชื่อ กลายเป็นที่ชุมนุมของคนนอนดึกที่มักจะไปจบด้วยการดื่มกาแฟที่ดุสิตธานี

โรงภาพยนตร์ของดุสิตธานีก็มีแฟนๆ ไปอุดหนุนแน่นขนัดเวลาฉายเรื่องดังๆ พร้อมโรงใหญ่

ห้องนภาลัยบอลรูมกลายเป็นห้องจัดงานแต่งงาน และห้องประชุมสัมมนาที่ท็อปฮิตติดอันดับ และเคยเป็นห้องแสดงคอนเสิร์ตของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ มาแล้ว

เห็นภาพพุ่มพวง ดวงจันทร์ เก่าๆ ในชุดแม่เสือสาว แต่งลายเสือทั้งชุด ผู้คนจะนึกออกทันทีว่านี่คือชุดที่เธอแต่งในการแสดงที่ดุสิตธานี

ครับ! ก็เป็นภาพประทับใจและความทรงจำอันสดชื่นส่วนหนึ่งที่คนไทยจำนวนมาก รวมทั้งผมด้วยมีต่อโรงแรมแห่งนี้

ดังนั้น แม้ว่าจะรู้สึกดีใจ และภูมิใจเมื่อทราบข่าวว่าดุสิตธานีจะแปลงร่างไปเกิดใหม่ เป็นดุสิตธานีใหม่ที่ยิ่งใหญ่และอลังการกว่าเก่า

แต่ก็อดมิได้ที่จะเกิดความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ดังที่ผมได้กราบเรียน ไว้ในช่วงแรกๆ ของข้อเขียนวันนี้

ไม่อยากจะใช้วลีนี้เลย แต่ก็คงต้องขออนุญาตใช้สักหน่อยละครับ…“โชคดี และขอให้ไปดีเถอะนะ (เพื่อน) ดุสิตธานีหลังเดิม”.

“ซูม”