ผมได้รับข่าวประชาสัมพันธ์จาก JSL แจ้งให้ทราบว่าขณะนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เปิดโครงการขึ้นโครงการหนึ่ง ชื่อว่า “Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง”
สืบเนื่องมาจากประเทศไทย เดินหน้าเข้าสู่ยุค 4.0 ทำให้คนไทยใช้ชีวิตผูกติดกับดิจิทัล ทั้งในชีวิตส่วนตัว และการทำงาน อาจนำมาซึ่งปัญหาหลายๆ ด้าน หากขาดความเข้าใจเรื่องการใช้สื่อดิจิทัลอย่างเหมาะสม
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นตามพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจากภัยอันตรายของสื่อดิจิทัลมากที่สุด
โครงการ “Healthy Digital Family” มีจุดมุ่งหมายไปที่การสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัวในการปลูกฝัง สร้างภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อยุคดิจิทัลแก่เยาวชน โดยการเน้นย้ำถึงการเสพอย่างมีสติ, มีสไตล์ และสตรอง อันเป็นชื่อเต็มๆ ของโครงการนี้
เอกสารข่าว JSL สรุปว่า ศ.นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดงานนิทรรศการ พร้อมเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนดาราที่มีประสบการณ์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ตามศูนย์การค้าต่างๆ ไปแล้วหลายครั้ง เช่นที่ เซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต และ เซ็นทรัล พลาซ่า นครราชสีมา เป็นต้น
รวมทั้งจะจัดขึ้นอีก 2 ครั้งที่ เซ็นทรัล พลาซ่า ชลบุรี ในวันที่ 1-7 ตุลาคม และที่ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต วันที่ 26-28 ตุลาคม ใครทราบข่าวแล้ว ก็โปรดแจ้งกันต่อๆ ไปด้วย
จากเอกสารประชาสัมพันธ์ชิ้นนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมอยากรู้ข้อเท็จจริงหรือตัวเลขเรื่องการเสพสื่อดิจิทัลของคนไทยขึ้นมาในทันทีทันควัน เพราะส่วนใหญ่เรามักจะพูดกันกว้างๆ ว่าเสพกันมาก ติดกันเยอะ ผู้ใหญ่ไทย เด็กไทย เดี๋ยวนี้เป็น “สังคมก้มหน้า” กันไปหมดแล้ว
แต่ยังไม่ค่อยมีใครหยิบตัวเลขที่บอกได้อย่างเป็นรูปธรรมมาให้เรารับรู้รับทราบเท่าไรนัก ผมก็ลองใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนกันเข้าไปค้นดูว่าข้อมูลของคนไทยเราในเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
พบว่ามีการรวบรวมตัวเลขเอาไว้หลายแห่ง หลายๆ ที่ ทำให้ทราบว่า คนไทยเรา “เสพติดเน็ต” เป็นอันดับ 1 ของโลก หรือแชมป์โลกเสพติดเน็ตกันเลยทีเดียว
เรามาดูรายละเอียดกันเลยครับ เริ่มจากข้อมูล ระดับโลก กันเสียก่อน พบว่าจากประชากรทั่วโลก 7,593 ล้านคน ในปัจจุบันนี้มีถึง 4,021 ล้านคนที่เข้าถึง การใช้อินเตอร์เน็ต และมีการใช้งาน โซเชียลมีเดีย เป็นประจำมากถึง 3,196 ล้านคน
ทวีปที่มีผู้ใช้ อินเตอร์เน็ต มากสุดในโลกตามลำดับ คือ ยุโรปเหนือ (94%) ยุโรปตะวันออก (90%) อเมริกาเหนือ (88%) ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เน็ตประมาณ 58%
สำหรับประเทศไทยเรามีประชากร 69.1 ล้านคน มีการใช้งาน อินเตอร์เน็ต 57 ล้านคน ใช้ โซเชียลมีเดีย 51 ล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 93.61 ล้านเลขหมาย (มากกว่าจำนวนประชากรของประเทศ)
เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศ ที่ผู้คนใช้เวลาต่อวัน อยู่กับอินเตอร์เน็ต (รวมทุกอุปกรณ์) มากที่สุดในโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และถ้าวัดเฉพาะการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน ประเทศไทยก็ยังเป็น “แชมป์โลก” เช่นกัน โดยใช้เวลาท่องเน็ตผ่านมือถืออยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาทีต่อวัน
ไปที่โซเชียลมีเดียกันบ้างที่บอกว่าคนไทยใช้ถึง 51 ล้านคนนั้นปรากฏว่าใช้ผ่านเฟซบุ๊กมากสุด ตามมาด้วยยูทูบ, ไลน์, เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์และอินสตาแกรม
สำหรับการใช้เฟซบุ๊กนั้นปรากฏว่า กรุงเทพฯ ใช้มากที่สุดเมื่อเทียบ กับเมืองต่างๆ ในโลกคือ 22 ล้านคน (สงสัยจะรวมปริมณฑลด้วย) โดยมี ธากา ของบังกลาเทศ อันดับ 2 ประมาณ 20 ล้านคน, เบกาซิ (อินโดนีเซีย) อันดับ 3 ประมาณ 18 ล้านคน, จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) อันดับ 4 ประมาณ 16 ล้านคน และ เม็กซิโก ซิตี้ อันดับ 5 ประมาณ 14 ล้านคน
เห็นตัวเลขเห็นข้อมูลทั้งหมดนี้แล้ว ก็น่าคิดเหมือนกันนะครับ เพราะคนไทยเราติดเน็ต ติดเฟซบุ๊กกันมากกว่าที่คิดไว้…จะเกิดอะไรขึ้นกับคนไทยและสังคมไทยกันบ้างหนอ? ถ้าเราจะท่องเน็ตและใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างขาดสติ…ไม่มีสไตล์และไม่สตรองอย่างที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำลังห่วงใยอยู่ในขณะนี้?.
“ซูม”