ปฏิญญา “เบี้ยวหนี้” ปัญหาของ “ครู” กลุ่มน้อย

ช็อกไปตามๆกันกับข่าวที่ว่า คุณครูประมาณ 100 คนเห็นจะได้ไปประชุมกันที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วก็ออกมาประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” มีข้อใหญ่ใจความอยู่ 2 ข้อ

ข้อแรก ให้ รัฐบาล และ ธนาคารออมสิน พักหนี้คุณครู ตามโครงการที่เรียกว่า ช.พ.ค. ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

ข้อสอง ลูกหนี้ ช.พ.ค. จำนวน 450,000 คน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้ธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

จะไม่ให้ช็อกได้อย่างไรล่ะครับ เพราะปกติการประกาศ “ปฏิญญา” แล้วตามด้วยชื่อจังหวัดชื่อเมือง ชื่อสถานที่ มักจะเป็นเรื่องดีๆ นำไปสู่การพัฒนา การต่อยอดในเชิงที่ดีงาม เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

อย่างเช่น “ปฏิญญา กรุงเทพฯ” ที่ประกาศเมื่อปี 2510 โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ประเทศ ต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มของการก่อตั้งกลุ่มอาเซียน และพัฒนามาเป็นประชาคมอาเซียนในทุกวันนี้

ตรงข้ามกับ “ปฏิญญามหาสารคาม” เลยครับ เพราะประกาศเปรี้ยงออกมาว่าจะให้พักหนี้ครู แถมยังชักชวนคุณครูที่เป็นหนี้อยู่ในขณะนี้ ยุติการชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไปเสียอีก

จากตัวเลขที่เป็นข่าวตามมาพบว่ายอดหนี้ตามโครงการ ช.พ.ค. หรือที่มีชื่อเต็มว่า “โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา” มีทั้งสิ้น 7 โครงการ รวม 483,578 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 410,923 ล้านบาท

ในรายละเอียดที่ธนาคารออมสินชี้แจงพบว่า ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่ดี มีวินัยทางการเงินผ่อนชำระเป็นประจำ ประมาณ 370,000 ราย

อยู่ระหว่างค้างชำระและหาทางปรับโครงสร้างประมาณ 65,000 ราย และประมาณ 20,000 รายเท่านั้น ที่ยังติดตามตัวไม่พบหรือยังมีปัญหา

แสดงว่าครูส่วนใหญ่ แม้จะมีหนี้สิน ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทต่อคน แต่ก็ยังสามารถผ่อนชำระได้ และพร้อมที่จะชำระต่อไป ที่มีปัญหาจริงๆ น่าจะอยู่ที่กลุ่ม 20,000 รายที่ว่า

นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรณีนี้ว่า “ครูส่วนใหญ่ชำระหนี้ดี และไม่เห็นด้วยกับการยุติชำระหนี้ ผมสอบถามข้อเท็จจริงและข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็อย่าให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา ขอให้เข้าใจกันทุกฝ่าย”

ผมทั้งอ่านข่าวและฟังที่ท่านนายกฯชี้แจงแล้วก็สบายใจขึ้นมาก

แม้ครูจำนวนมากจะเป็นหนี้สินก็จริง แต่ก็เป็นไปตามวิถีชีวิตของ “มนุษย์เงินเดือน” ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานี้ ที่มักจะมีหนี้สินมากกว่ารายได้ในทุกกลุ่มอาชีพ ไม่จำเพาะแต่ครูเท่านั้น ลูกจ้างบริษัทห้างร้าน หรือข้าราชการอื่นๆ ก็หนี้หนักทั้งนั้น

อยู่ด้วยการกู้ยืมมาโปะหน้าโปะหลัง เอาตัวรอดไปวันๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงอย่างน่าเป็นห่วงมาโดยตลอด

ผมจึงไม่ตำหนิคุณครูทั้งหลายในประเด็นก่อหนี้ ในทางตรงข้ามกับชื่นชมเสียอีกที่เมื่อก่อขึ้นแล้วก็ก้มหน้าก้มตากัดฟันใช้หนี้ไปอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งในกรณีนี้ก็มีถึง 3 แสน 7 หมื่นกว่าราย แต่ผมไม่เห็นด้วยหากจะมีการเบี้ยวหนี้หรือขอให้มีการพักหนี้ดังที่เสนอมาในปฏิญญานี้

ทางที่ดีที่สุดก็คือ ใครที่ยังมิได้ชำระหรือทำตัวให้สูญหายติดต่อยาก ที่บอกว่ามีจำนวนประมาณ 20,000 ราย ควรจะรีบไปติดต่อขอเจรจากับธนาคารออมสินเสียดีกว่า

เท่าที่อ่านจากคำแถลงของท่านผู้อำนวยการออมสิน ก็ดูเหมือนว่าทางธนาคารก็มีมาตรการที่จะผ่อนปรนเพิ่มเติมให้อยู่แล้ว

เพราะถ้าเบี้ยวจริงๆ หรือไม่ชำระจริงๆ หากหนี้นั้นเกิน 1 ล้านบาท อาจถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย และจะกลายเป็นขาดคุณสมบัติของการเป็นข้าราชการ ดังที่มีนักกฎหมายบางท่านออกมาเตือนไว้

รีบเคลียร์เสียเถอะครับ ใครที่ยังมีปัญหาอยู่…ผมละห่วงจริงๆว่าถ้าเกิดออมสินเขาเอาจริงขึ้นมา มีการฟ้องร้องล้มละลายที่ว่าจะเป็นผลให้ต้องออกจากราชการเป็นแถวๆ

ผมอ่านเจอในโซเชียลเสนอแรงมาก บอกให้ใช้มาตรการฟ้องล้มละลายเลย ให้ออกจากราชการไปสักหมื่นคน เผื่อจะช่วยถ่ายเลือดเอาครูใหม่ๆเข้าไปทดแทน จะทำให้การศึกษาของชาติไทยเราดีขึ้น

จริงๆแล้วข้อเสนอนี้ก็ไม่เลวเหมือนกัน แต่ขอให้เอาไว้ใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเถอะ…เมืองไทยเรายังอยู่กันได้ด้วยความประนีประนอม …ให้โอกาสคุณครูที่เป็นหนี้เป็นสินท่านอีกสักครั้งก็แล้วกันครับ.

“ซูม”