21 ปีสภาหนังสือพิมพ์ฯ ชูธง “สื่อ” ต้องคุมกันเอง

วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ผมต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านเขียนถึงเรื่องราวของแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชนอีกครั้ง

เพราะวันนี้เมื่อ 21 ปีมาแล้ว เจ้าของ บรรณาธิการและผู้ประกอบ วิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศได้มาร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ที่เป็นสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพในสังกัดสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จนได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแวดวงต่างๆเสมอมาว่า ไม่สามารถกำกับดูแลกันได้อย่างจริงจัง เพราะไม่มีมาตรการลงโทษทางกฎหมายกับสมาชิกที่ละเมิดจริยธรรม ที่ยังคงเกิดขึ้นในสื่อต่างๆอยู่บ้าง

ทำให้มีแนวคิดที่จะออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรเข้ามาใช้อำนาจตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายต่อสื่อ โดยไม่ได้ฉุกคิดว่า เป็นการเปิดช่องให้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐของสื่อมวลชนและกระทบถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกด้วย

แนวคิดที่ว่านี้ เป็นแนวคิดแบบอำนาจนิยมย้อนยุค ดังนั้นในโอกาสที่ประเทศไทยของเรากำลังจะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งจึงไม่ควรที่จะออกกฎหมายลักษณะนี้มาเป็นรอยด่างในสังคมประชาธิปไตยที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่บอกว่าจะต้องไปตั้งองค์กรตามกฎหมายมากำกับดูแลสื่อดังที่ผู้มีอำนาจใช้ความพยายามอยู่ในขณะนี้

ผมเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและเห็นด้วยกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ยังคงยึดมั่นในหลักการที่ว่า สำหรับประเทศประชาธิปไตยโดยถ่องแท้แล้ว สื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องควบคุมดูแลกันเอง

ส่วนแนวทางการกำกับดูแลสื่อควรจะเป็นอย่างไรนั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะจัดให้มีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กำกับดูแลสื่ออย่างไรให้เป็นที่พึ่งของสังคม” โดยเชิญ ศาสตราจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาให้ข้อคิด

ในโอกาสที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะจัดงานครบ 21 ปีของการก่อตั้งในวันนี้ (พุธที่ 4 กรกฎาคม)

และในโอกาสที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯได้ริเริ่มให้มีกลไก Media Ombudsman หรือคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก เพื่อให้การจัดการกับเรื่องร้องเรียนสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ก็จะจัดให้มีการสนทนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียน 1 ปี Ombudsman สื่อ” ขึ้นด้วย

โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสื่อ นักวิชาการ องค์กรที่เคยร้องเรียนสื่อผ่าน Ombudsman และผู้ที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน…เป็นรายการถัดไป

หลายฝ่ายมีความเชื่อกันว่ากลไก Ombudsman นี้เป็นความหวังสำคัญที่จะทำให้กลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนไทยสามารถเป็นจริงได้ ดังที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็มีคณะกรรมการ Ombudsman ขึ้น และได้ทำงานกันอย่างแข็งขันทั้งเชิงรุก คือการจัดการอบรมด้านจริยธรรมให้แก่คนข่าวทุกระดับของทุกสื่อในเครือและได้จัดการกับเรื่องร้องเรียนหลายเรื่องไปได้ด้วยความเรียบร้อย

กิจกรรมทั้งหมดข้างต้นจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมฟังการปาฐกถาและการสนทนากลุ่มได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ท่านผู้อ่านที่สนใจในพัฒนาการของแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชน ถ้ามีโอกาสและมีเวลาขอเชิญแวะไปร่วมกิจกรรมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วยนะครับ

ท้ายที่สุดนี้ผมขอถือโอกาสให้กำลังใจเพื่อนสื่อมวลชนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ให้สามารถฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยยังสามารถทำหน้าที่สื่อมืออาชีพภายใต้ กรอบจริยธรรมสื่อได้อย่างเหนียวแน่น…ตลอดไป!

“ซูม”