เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงปรากฏการณ์ที่คนแก่อย่างผมไม่ค่อยเคยพบเคยเห็นเท่าไรนัก ที่มีผู้คนหลายพันคนไปนั่งเข้าคิวยาวเหยียดข้ามคืนที่หน้าห้าง เดอะมอลล์ บางกะปิ
นึกว่าไปรออะไรกัน เขาจะมีสินค้าราคาถูกลดกระหน่ำอะไรมาขายหรืออย่างไร? ผู้คนถึงได้รอกันล้นหลามขนาดนั้น
ปรากฏว่า ไม่ใช่ครับ…หนุ่มๆสาวๆจำนวนมากมายเหล่านี้มาเข้าคิวรอเพื่อจะให้ได้สิทธิเป็นคนแรกๆในการจับมือนักร้องนักเต้นวัยรุ่นวง BNK 48 เจ้าของเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ที่พวกเขาชื่นชม
คนแก่ที่เคยเข้าคิวข้ามคืนเหมือนกันเมื่อ 30-40 ปีก่อนอย่างผมเพราะอยากได้เลขหมายโทรศัพท์ไว้ใช้ที่บ้าน ก็เลยต้องนำมาบันทึกเอาไว้ พร้อมกับฝากความคิดความเห็นตามสไตล์ของผมไป 2-3 ข้อ
วันนี้ขออนุญาตเขียนต่ออีกนิดนะครับ เพราะเมื่อวานผมใช้คำฮิตคำหนึ่งที่ใช้กันเยอะในยุคนี้ ในการบรรยายความสำเร็จของนักร้องสาววงนี้ นั่นก็คือคำว่า “ไอดอล” ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “Idol” ที่ผมเอ่ยถึง 2-3 หนในคอลัมน์
ในพจนานุกรมฉบับกะทัดรัดรวมศัพท์ 40,000 คำ ของซีเอ็ด ที่ผมชอบใช้เพราะพกพาสะดวก ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “Idol n. บุคคลหรือสิ่งที่มีผู้คนมานิยมนับถือ, เทวรูป, วัตถุบูชา” แต่ถ้าเป็นคุณศัพท์ หรือ adj. จะใช้คำว่า “Idolatrous หมายถึง หลงใหล และเกี่ยวกับการบูชา”
แสดงว่าคำคำนี้น่าจะมีความหมายไปในทางที่ดี คนที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Idol ควรจะเป็นคนดีพอสมควร เพราะในภาษาอังกฤษบางครั้งเขาก็ใช้กับเทวรูป หรือวัตถุบูชา เอาด้วยซ้ำ
ดังนั้น ที่เมื่อวานผมเขียนว่าสาวๆ BNK 48 เป็นไอดอล ของหนุ่มสาวจำนวนมาก เพราะสมาชิกวงนี้มีประวัติเรียนเด่น เต้นดี ร้องเพลงดี เป็นดาวมหาวิทยาลัยทุกคน…จึงน่าจะเป็นการหยิบมาใช้ที่ถูกต้อง
เพราะคนจะเป็นไอดอลจะต้องมีความดีงามอะไรอยู่บ้างในตัว เพื่อให้คนอื่นๆจำเป็นแบบอย่าง อย่างที่ว่า
การเต้นกินรำกินในยุคนี้ ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติอาชีพหนึ่ง การที่เด็กสาวๆเหล่านี้มาร้องมาเต้น แต่ก็ยังเรียนหนังสือด้วย แถมบางคนยังเรียนเก่งอีกต่างหาก จึงถือได้ว่าเป็นแบบอย่าง หรือไอดอลอย่างแท้จริง
เขียนถึงคำว่าไอดอลมาถึงตรงนี้ ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีการรณรงค์ในโซเชียลมีเดีย ขอให้มีการใช้คำว่าไอดอลให้ถูกต้องสำหรับการยกย่องคนบางกลุ่มในสื่อออนไลน์
เพราะมีการไปเขียนเป็นเชิงยกย่องให้บุคคลบางคนเป็น Net Idol ทั้งๆที่มิได้กระทำความดีความงามแต่อย่างใดเลย เพียงแค่ออกมาทำตัวให้ดัง แล้วก็สร้างกระแสโน่นนี่ให้คนรู้จักเข้าหน่อยก็เป็น Net Idol กันหมดแล้ว
จึงเกิดการรณรงค์ให้เข้าใจคำว่า Idol ควบคู่ไปกับคำว่า Idiot (ซึ่งคำหลังนี้อ่านว่า อีเดียต) ที่พจนานุกรมเล่มเดียวกันนี้ให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า “n. คนที่โง่หรือเซ่อ” เพียง 2 คำเท่านั้น
แต่พจนานุกรมเล่มอื่นๆ มักขยายความกว้างกว่านี้ ใช้คำว่า “ทึ่ม” คำว่า “ปัญญาอ่อน” และคำว่า “บ้องตื้น” ก็ยังมี
ผมจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ เพราะผ่านตามานานแล้วละ แต่จำประเด็นของการรณรงค์ได้เป็นอย่างดีว่า ต่อไปนี้ใครอยากทำตัวโฉ่งฉ่าง เด่นดังในโลกออนไลน์ให้แยกแยะให้ดีเสียก่อนว่าดังแบบไหน
ถ้าดังในทางที่ดี เด็กๆหรือใครก็ตามเอาเยี่ยงเอาอย่างแล้วไม่เสียหาย มีแต่จะเป็นคุณประโยชน์ ทำให้เด็กๆหรือผู้ตามได้รับประโยชน์ในทางที่ดี ค่อยยกให้เป็น Net Idol เขียนชื่นชมให้เต็มที่
แต่ถ้าดังในทางเสียหาย สังคมเอาอย่างแล้วก็จะเสียหาย ก็ให้เรียกเสียว่า Net Idiot หรือเจ้าโง่ เจ้าทึ่มแห่งโลกออนไลน์ซะเลย
ผมเห็นด้วยกับการรณรงค์เรื่องนี้ครับ และฝากให้ช่วยรณรงค์อย่างกว้างขวางต่อไปด้วย
พอดีเมื่อวานมีข่าวเครื่องสำอางตุ๋นประชาชน ไม่มี อย. ไม่ผ่าน อย. แต่บอกว่าผ่าน แถมให้ดาราบ้าง ให้เน็ตไอดอลบ้างไปรีวิว ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ แลกกับเงินครั้งละ 50,000 บาท
“เน็ตไอดอล” (ที่เรียกกันเอง) คนไหนไปช่วยรีวิวให้เครื่องสำอางยี่ห้อนี้นี่แหละ น่าจะเหมาะกับคำว่า “เน็ต อีเดียต” มากที่สุด…เพราะ “อีเดียต” จริงๆ เห็นแก่เงินลูกเดียว ไม่สอบถามหาข้อเท็จจริงเลยว่าผ่าน อย.แล้วหรือยัง!
“ซูม”