วิถี “เกษตรก้าวหน้า” ทางออกของเกษตรไทย

ผมได้รับเอกสารประชาสัมพันธ์ชิ้นหนึ่งจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือแบงก์บัวหลวง เชิญชวนให้ไปฟังการสัมมนาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งที่ทางธนาคารจัดขึ้น

ในหัวข้อ “การจัดการที่ดีตามวิถีเกษตรก้าวหน้า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนเกษตรกรไทยไปสู่ความสำเร็จโดยแท้จริง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ระบุมาด้วยว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อสืบสานปณิธานของอดีตประธานกรรมการบริหาร คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ริเริ่มโครงการเกษตรก้าวหน้าของธนาคารไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2542

การสัมมนาจะเริ่มตั้งแต่เวลา 12.30 น. วันพุธที่ 21 มีนาคม ที่ ห้องบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม

จุดเด่นจะอยู่ที่ปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช ในหัวข้อ “เกษตรไทย 4.0”

รวมทั้งการอภิปรายในเรื่อง “การจัดการที่ดี ตามวิถีเกษตรก้าวหน้า” โดยเกษตรก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการประกอบอาชีพ

ได้แก่ คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์ จากสุโขทัย ผู้ประสบความสำเร็จจากผลผลิตพริกเพื่ออุตสาหกรรม, คุณบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร จากเชียงใหม่ ผู้บริหารจัดการอุตสาหกรรมโคนม และคุณศักดา ขันติพะโล จากแปดริ้ว ผู้บริหารจัดการสหกรณ์มะม่วงส่งออก

โดยมี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคม-นิสิตเก่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมการเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ท่านที่สนใจจะเข้าฟังติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2230-2654 และหมายเลข 0-2230-9671 ในเวลาทำงานโดยด่วน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นครับ

ที่ผมรีบนำข่าวนี้มาเขียนแนะนำต่อทันทีก็เพราะความดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ทราบว่า โครงการเกษตรก้าวหน้าของธนาคารกรุงเทพยังคงอยู่ และอยู่อย่างแข็งแกร่งไม่น้อยไปกว่ายุคของท่านอาจารย์โฆสิต

อาจารย์โฆสิตเชื่อมาตลอดว่า “เกษตรก้าวหน้า” คือความหวังและทางออกของประเทศไทย

ท่านเป็นนักวางแผนพัฒนาคนแรกที่เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยออกเป็น 3 ด้าน เพราะความแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาลของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีทั้ง “เกษตรล้าหลัง” “เกษตรปานกลาง” และ “เกษตรก้าวหน้า”

น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ เกษตรล้าหลัง ซึ่งเป็นเขตเกษตรที่มีประชากรส่วนใหญ่ทำนาข้าว และทำด้วยระบบวิธีการดั้งเดิม ขาดแคลนความรู้และยากจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำเกษตร

ดีที่สุดก็คือ เกษตรก้าวหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกผลไม้ หรือพืชผัก อันเป็นที่ต้องการของตลาด โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกษตรก้าวหน้าจะอยู่แถวๆภาคกลาง เช่น นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม และภาคตะวันออกตั้งแต่ฉะเชิงเทราไปจนถึงระยอง จันทบุรี

ด้วยความเร่งด่วนของปัญหาทำให้ท่านในฐานะหัวหน้าทีมวางแผนพัฒนาชนบทของสภาพัฒน์ และในฐานะที่ปรึกษา พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.โน้น ต้องมุ่งเน้นไปในการพัฒนาเกษตรล้าหลังก่อน

แต่ท่านก็มิได้ทิ้ง เกษตรก้าวหน้า เพราะท่านเชื่อมาตลอดว่า ถ้าเราสามารถทำให้เกษตรกรไทยเราข้ามชั้นจากเกษตรยากจนหรือปานกลางมาเป็นก้าวหน้าได้มากเท่าไร ปัญหาความยากจนในชนบทไทยก็จะลดลงเมื่อนั้น

จนกระทั่งเมื่อท่านออกจากระบบราชการมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จึงได้ริเริ่มโครงการที่ท่านเชื่ออีกครั้งหนึ่ง

เกือบ 20 ปีของโครงการนี้ของธนาคารกรุงเทพทำให้เกษตรกรพัฒนาตัวเองและไต่ระดับขึ้นมาเป็นเกษตรก้าวหน้าจำนวนไม่น้อย

คำว่า “เกษตรก้าวหน้า” ของท่านอาจารย์โฆสิต คงมิได้ไปไกลเหมือนนิยาม “เกษตร 4.0” อย่างที่กล่าวขวัญกันอยู่ในขณะนี้

แต่เกษตรก้าวหน้าซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีความรู้พัฒนาตัวเอง ทันคน ทันโลก ทันตลาด ทันผู้บริโภค และมีความสามารถในการป้องกันตัวเองที่แข็งแกร่ง…ก็พร้อมที่จะไปสู่ 4.0 ได้ไม่ยาก

แม้จะเป็นสถาบันเอกชนที่มีพลังไม่มากนักหากเทียบกับพลังรัฐอันมหาศาล แต่การยังมีโครงการนี้อยู่ก็ถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง

เดินหน้าต่อไปนะครับคุณเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของบัวหลวง–พวกเราที่ไทยรัฐหลายๆคน รวมทั้งผมด้วยเอาใจช่วยท่านเต็มที่ซีน่ะ.

“ซูม”