นับจากวันนี้ (อาทิตย์ที่ 28 มกราคม) ไปอีกเพียง 6 วัน หรือวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่จะมาถึง ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ศึกลูกหนังที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยก็จะได้ฤกษ์ฟาดแข้ง ณ สนามศุภชลาศัยกันอีกครั้งหนึ่ง
เป็นครั้งที่ 72 แล้ว นับตั้งแต่ 2 มหาวิทยาลัย ริเริ่มจัดเตะขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2477 หรือเมื่อ 84 ปีก่อนโน้น ณ ท้องสนามหลวง ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเอง
เจอปัญหาสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้าง น้ำท่วมใหญ่ทั่ว กทม.บ้าง รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 6 ตุลาคมเข้าบ้าง ทำให้ฟุตบอลประเพณีต้องหยุดชะงักลงไปชั่วคราว
ระยะเวลา 84 ปี จึงมีการจัดขึ้นในจำนวน 72 ครั้งดังกล่าว และครั้งที่ 72 ความจริงก็มี กำหนดการจะจัดเมื่อต้นปี 2560 แต่ก็ได้เลื่อนมาปีนี้เมื่อคนไทยทั้งชาติตกอยู่ในภาวะเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวงจากการเสด็จสู่สวรรคาลัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ 13 ตุลาคม 2559 และต้นปี 2560 เป็นช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ถวายแด่พ่อหลวงของเรา
บัดนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมแล้ว และก็ได้มีการแถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่ไปแล้วจากผู้บริหารและตัวแทนศิษย์เก่าของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย
สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า ฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 72 จะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์แน่นอน และจะมีขบวนพาเหรด มีการเชียร์ รวมทั้งการแปรอักษรบนอัฒจันทร์ สัญลักษณ์ประการหนึ่งของฟุตบอลประเพณีดังที่เคยปฏิบัติกันมา
สำหรับปีนี้ จะมาในแนวคิดที่ว่า “Our Rise ปลุกสปิริตให้สังคม” ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับฟุตบอลประเพณีที่มิใช่เป็นเพียงเกมการแข่งขันของ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังจะเป็นจุดเริ่มในการส่งเสริมความร่วมมือของนิสิตและนักศึกษารุ่นใหม่ ให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่อนาคตด้วย
จากหนังสือ “70 ปี ธรรมศาสตร์ประกาศนาม” ระบุไว้ชัดเจนว่า ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2477 เป็นครั้งแรก ณ ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) รายได้บำรุงสมาคมปราบวัณโรค ผลการแข่งขันเสมอกัน 1-1 โดยครั้งนี้ยังไม่มีขบวนพาเหรดการแปรอักษร หรือเพลงเชียร์แต่อย่างใด
ปีต่อๆมามีการโยกย้ายไปเตะที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแทน และจัดเตะอยู่หลายๆครั้ง จนกระทั่งเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ และเกิดมหาสงครามระหว่าง พ.ศ.2484-2491 ฟุตบอลประเพณีจึงงดไปนานพอสมควร
จนกระทั่งปี 2492 จึงได้โยกย้ายมาจัดที่ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เสด็จเป็นองค์ประธาน และต่อมาในปี 2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและพระราชทานรางวัลแก่ทีมชนะเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน
สำหรับการจัดขบวนพาเหรดอัญเชิญพระเกี้ยวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอัญเชิญธรรมจักรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนขบวนสวยงามและขบวนล้อการเมือง น่าจะเริ่มขึ้นในยุคที่ย้ายมาแข่งขัน ณ สนามศุภชลาศัย คือตั้งแต่พุทธศักราช 2492 เป็นต้นมา
นอกจากขบวนพาเหรดก่อนการแข่งขันแล้ว ก็ยังมีการแห่คบเพลิงหลังการแข่งขัน โดยนิสิตนักศึกษาของ 2 มหาวิทยาลัย จะเดินชูคบเพลิงที่จุดสว่างไสว ยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา จากสนามศุภชลาศัยไปยังมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันที่จะจัดอาหารค่ำไว้ต้อนรับ
ในงานเลี้ยงภาคกลางคืนก็ถือเป็นกิจกรรมที่ตื่นตาตื่นใจและประทับใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีการบรรเลงดนตรีบนเวที มีการแสดงต่างๆบนเวทีแล้ว รอบๆสนามจะมีนิสิต นักศึกษานั่งจับกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน หรือจับกลุ่มล้อมวงบังคับให้ร้องเพลงเชียร์ให้บูมจุฬาฯวี้ดบึ้ม ธรรมศาสตร์สนุกสนานกันเต็มที่
ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดประเพณีเล็กๆ ซ้อนขึ้นอีกประเพณีหนึ่ง ได้แก่ การที่นิสิตนักศึกษาทั้ง 2 มหาวิทยาลัยจะสวมเสื้อเชียร์ ทั้งสีชมพูและเหลืองแดงเช่ารถบรรทุก 6 ล้อ หรือรถกระบะ ขับฉวัดเฉวียนไปมาทั่วกรุงเทพมหานคร ร้องเพลงเชียร์กึกก้องตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงเวลาบ่ายโมงก่อน ขบวนพาเหรดจะเริ่มขึ้น ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ บอกกล่าวประชาชนว่าฟุตบอลประเพณีจะเริ่มขึ้นแล้วในวันดังกล่าว
สิ่งละอันพันละน้อย อันเป็นส่วนประกอบของฟุตบอลประเพณีมาถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 2503-2504 หลังจากนั้นก็ค่อยๆเลิกหายไป
การนั่งรถตระเวนบูมทั่วกรุงเริ่มมีปัญหาเพราะการจราจรเริ่มติดขัดมากขึ้น ไม่เหมาะที่นิสิตนักศึกษาจะไปเพิ่มความติดขัดขึ้นอีกก็ต้องเลิกราไป
การเลี้ยงภาคกลางคืนยังมีอยู่อีกพักใหญ่ แต่การแห่คบเพลิงต้องเลิกไป เพราะอยู่ในสมัยปฏิวัติทางการคุมเข้ม และเกรงว่าจะควบคุมไม่อยู่หากมือที่ 3 ฉวยโอกาสโยนคบเพลิงเข้าใส่บ้านที่อยู่อาศัยประชาชน จะเกิดความเดือดร้อน
ในที่สุด งานเลี้ยงภาคกลางคืนก็พลอยเลิกไปด้วย ทำให้ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จบลงแค่ฟุตบอลแพ้ชนะและรับถ้วยเท่านั้น
แม้ความสนุกสนานหลายๆอย่างจะเลิกราไป แต่แก่นของฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ยังคงอยู่ นั่นก็คือ ขบวนพาเหรด การเชียร์บนอัฒจันทร์ รวมทั้งการแปรอักษรอันสวยงาม
อย่าลืมแวะไปพิสูจน์ด้วยนะครับว่า ฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 72 ในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ จะมีอะไรดีๆหลงเหลืออยู่บ้าง ณ สนามศุภชลาศัย เจ้าเก่า ตั้งแต่ 14.00 น. เป็นต้นไป
แต่ถ้าไปไม่ได้จริงๆ อย่าลืมติดตามดูชมทางทีวีด้วยนะครับ พี่น้องแฟนบอลทั่วประเทศ ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 จะทำหน้าที่ถ่ายทอดสดตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนถึง 17.00 น.
ปล.ทีมงานซอกแซกนั่งอ่านข่าวแจกข่าวแถลงทุกๆฉบับ ไม่เห็นมีพูดถึงขบวนพาเหรดล้อการเมืองเลย…ถามจริงๆเหอะ จะมีไหมเนี่ย? ถ้าไม่มีจะกร่อยแย่เลยนะครับ…ยังไงๆก็ควรมีนิดหน่อยๆ แค่หยิกแกมหยอก ติเพื่อก่อ ล้อเพราะรัก “ลุงตู่” เขยธรรมศาสตร์ ท่านคงไม่ว่าลูกๆหลานๆจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ของท่านหรอกน่า.
“ซูม”