80 ปีเตรียมอุดมศึกษา เชิญศิษย์เก่าทุกรุ่นคืนรัง

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดใหม่ของสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ “สนตอ.” ยกคณะมาขอพบผมที่โรงพิมพ์ไทยรัฐ

นำทีมโดยอดีตผู้ว่าฯ กทม. อภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะนายกสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ คนปัจจุบัน

ท่านนายกอภิรักษ์แจ้งเหตุผลของการยกทีมมาพบผมว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้าคือ ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้จะมีงาน “80 ปี คืนสู่เหย้า เราคือเตรียมอุดม” ที่สนามฟุตบอลโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ถนนพญาไท เขตปทุมวัน นี่แหละครับ

คณะกรรมการขอถือโอกาสนี้เชิญชวนผมในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งไปร่วมงานในวันดังกล่าวด้วย พร้อมกับฝากให้ช่วยเขียนประชาสัมพันธ์ผ่านคอลัมน์ของผมด้วย เพื่อให้ศิษย์เก่าท่านอื่นๆที่อาจจะยังไม่ทราบจะได้มีโอกาสทราบ และหาโอกาสไปร่วมงานในครั้งนี้

ผมยังไม่รับปากร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไปร่วมงานด้วยหรือไม่ แม้ใจจะอยากไปร่วมเป็นที่สุด เนื่องจากห่างเหินโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามานานพอสมควรแล้ว

ถ้าจะนับวันที่ผมเข้าเรียน คือ พ.ศ.2501 มาถึงวันนี้ก็ 60 ปีพอดิบพอดี ตอนจบแรกๆ กลับไปเยี่ยมบ้าง 2-3 ครั้ง แต่หลังจากนั้นก็นานๆไปครั้ง และล่าสุดที่กลับไปงานคืนสู่เหย้าก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 10 ปีมาแล้ว

ดังนั้นถ้าถามว่าอยากจะไปหรือไม่ ผมก็คงต้องตอบว่าอยากไปมาก แต่เผอิญว่าวันศุกร์ที่จะถึงนี้เป็นวันที่ผมมีภารกิจตั้งแต่เช้าจดค่ำ จึงต้องแบ่งรับแบ่งสู้ท่านนายกสมาคมฯเอาไว้ก่อนว่า อาจจะไปถ้ายังไม่หมดแรง แต่สำหรับการเขียนประชาสัมพันธ์ให้นั้น ผมยินดีเต็มที่เลยครับ

สำหรับโปรแกรมทั่วๆไปของงานคืนสู่เหย้า “80 ปีเตรียมอุดม” ที่คณะกรรมการมอบไว้ให้ผมแจ้งว่า งานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น.

ไปซื้อบัตรกันได้ที่หน้างานราคา 500 บาทถ้วน พร้อมคูปองอาหาร 4 ใบ และหางบัตรสำหรับชิงโชค

หรือถ้าจะจองล่วงหน้าทาง Online ก็ได้ครับ เพียง Add Line : @triamalumni ก็จะมีข้อมูลบอกกล่าวบอกวิธีซื้อไว้พรั่งพร้อม

เมื่อไปถึงงานแล้วก็จะมีคณะกรรมการมาตั้งโต๊ะให้ศิษย์เก่าลงทะเบียนเพื่อจะได้รับบัตรแยกรุ่น สำหรับเดินไปที่โต๊ะที่เขาจัดไว้เป็นรุ่นๆ ได้อย่างสะดวก

ในขณะที่บนเวทีก็จะมีการแสดงพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยเฉพาะจะมีการขับร้องเพลง “คิดถึงปิ่นหทัย” โดย “คุณปุ๊” อัญชลี จงคดีกิจ ต.อ.36 ให้ฟังด้วย

ส่วนรอบๆบริเวณงานก็จะมีซุ้มอาหารนานาชนิดมาให้เลือกชิม รวมทั้งจะมีซุ้มสอยดาวและการจับสลากชิงรางวัลต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีหนังสือ “80 ปีเตรียมอุดม 80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต” สัมภาษณ์นักเรียนเก่า 80 ท่านที่มีชื่อเสียงอยู่ในหลากหลายวงการของประเทศมาวางจำหน่ายด้วย เพื่อนำรายได้ไปพัฒนางานวิชาการด้านต่างๆของโรงเรียน

นอกจากโปรแกรมงานข้างต้นนี้แล้ว คณะกรรมการยังได้มอบประวัติสั้นๆของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ให้ผมอีกแผ่นหนึ่ง สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติให้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2480 และเปิดรับนักเรียนรุ่นแรกในเดือนพฤษภาคม 2481

เพื่อรับนักเรียนที่จบมัธยมบริบูรณ์มาเรียนอีก 2 ปี จากนั้นก็จะเข้าเรียนต่อในคณะต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาขึ้นใหม่ แต่ละมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยุบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของตนเองเพื่อเปิดรับนักเรียนเตรียมอุดมฯ หรือ ม.7 ม.8 เป็นการทั่วไป

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงได้โอนไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และตัดคำว่า “แห่งจุฬาลงกรณ์” ออกจากท้ายชื่อ แต่ยังคงสัญลักษณ์ของโรงเรียนคือ “ตราพระเกี้ยว” เอาไว้เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มักจะเรียกกันว่า “พระเกี้ยวน้อย” ซึ่งยังใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาจนถึงวันนี้

นักเรียนรุ่น 1 ถ้าเข้าเรียนตอนอายุ 16 ปี ก็จะมีอายุ 96 ปี เป็น อย่างน้อย จะมีใครยังหลงเหลืออยู่บ้างหนอ? ขนาดรุ่นผม ต.อ.21 เฉลี่ยแล้วอายุยังเกิน 70 ปีทั้งรุ่น…สรุปว่าใครที่ยังพอกะย่องกะแย่งไหวไม่นอนติดเตียง อย่าลืมไปพบเพื่อนฝูงในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. ด้วยก็แล้วกัน.

“ซูม”