99 ปีไพบูลย์ บุตรขัน อัจฉริยะคีตกวีลูกทุ่ง

ทีมงานซอกแซกได้รับหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก เล่มหนาพอสมควรเล่มหนึ่ง จากคุณบุญเลิศ คชายุทธเดช หรือ “บุญเลิศ ช้างใหญ่” อดีตนักข่าวและนักเขียนของหนังสือพิมพ์มติชน ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ เขียนหนังสือ จัดรายการวิทยุ จัดรายการโทรทัศน์ และสอนหนังสือในคณะนิเทศศาสตร์ ฯลฯ

ชื่อหนังสือเต็มๆ ก็คือ “ไพบูลย์ บุตรขัน”–อัจฉริยะคีตกวีลูกทุ่ง ผู้อาภัพ (ภาคสมบูรณ์) รวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ตลอดจนเนื้อเพลงและเบื้องหลังของการแต่งในแต่ละเพลงของครูไว้อย่างครบถ้วน

คุณบุญเลิศแจ้งให้ทราบด้วยว่า หนังสือเล่มนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 29 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ณ วัดสำแล อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อันเป็นวัดที่บรรจุอัฐิของครูไพบูลย์ และอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิดของคีตกวีลูกทุ่ง ที่ลูกหลานยังรักษาไว้เป็นอนุสรณ์

กิจกรรมสำคัญในวันอังคารที่จะถึงนี้ที่วัดสำแล จะเริ่มด้วยการเลี้ยงพระเพลอุทิศส่วนกุศลแก่ครูไพบูลย์ ดังเช่นที่ลูกหลานและลูกศิษย์ทั้งหลายได้ร่วมกันดำเนินการมาหลายปีแล้ว หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ได้แก่ คุณสุริยะ บุตรขัน หลานชายแท้ๆของครู

สำหรับปีนี้จะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการประชุมหารือที่จะนำไปสู่การตกแต่งปรับปรุงให้ “บ้านคีตกวีลูกทุ่ง” ของครูที่ท้องคุ้งเป็นเสมือนหนึ่งพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง และเพื่อสืบสานเพลงลูกทุ่งแท้ๆให้ยั่งยืนสืบต่อไป

รวมทั้งจะหารือเตรียมจัดงานเพื่อรำลึกถึงครูไพบูลย์ ในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของท่านที่จะมาถึงในปีหน้าคือ วันที่ 4 กันยายน 2561

เนื่องเพราะครูไพบูลย์เกิดเมื่อ 4 กันยายน 2461 ปีนี้ จึงเป็นปีที่ 99 และปีหน้าจึงจะเป็นปีครบ 100 ดังกล่าว

นอกจากจะจัดงาน 100 ปีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่แล้ว บรรดาลูกศิษย์ลูกหายังจะเตรียมการเสนอ ชื่อประวัติและผลงานของครูไพบูลย์ บุตรขัน ในฐานะบุคคลทางประวัติศาสตร์ของไทย เพื่อให้ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ด้านประพันธ์เพลงลูกทุ่ง จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ควบคู่กันไปด้วย

จากนั้น จึงจะมีการเปิดตัวและแนะนำหนังสือว่าด้วยชีวิตและผลงานของครู เล่มที่คุณบุญเลิศ ช้างใหญ่ รวบรวมขึ้นใหม่ และส่งมาให้ทีมงานซอกแซก ดังที่เกริ่นไว้ตอนต้น

ทีมงานซอกแซกขอถือโอกาสนี้เชิญชวนญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหา และผู้ที่ชื่นชอบในเสียงเพลงที่ประพันธ์จากมันสมองอัจฉริยะของครูไพบูลย์ไปร่วมงานกันด้วย เช่นเดียวกับปีก่อนๆ

สำหรับหนังสือเล่มที่คุณบุญเลิศส่งมาให้นั้น หัวหน้าทีมซอกแซกเปิดอ่านรวดเดียวจบไปเรียบร้อย ขอชมเชยว่า รวบรวมเรื่องราวและเกร็ดเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทั้งที่เกี่ยวกับชีวิตของครู ไพบูลย์ บุตรขัน และเพลงดังๆ ต่างๆ ของครูเอาไว้อย่างละเอียดลออ

โดยส่วนตัวหัวหน้าทีมซอกแซกเองมีเพลงประทับใจตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่ต่างจังหวัด 2-3 เพลง ก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ทราบถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของแต่ละเพลงจากหนังสือเล่มนี้

เพลงแรกที่ประทับใจหัวหน้าทีมมากที่สุดก็คือ “มนต์เมืองเหนือ” ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์ เมื่อปี 2492 ที่ครูไพบูลย์ยอมรับว่า แต่งบรรยายบรรยากาศของภาคเหนือโดยไม่เคยเที่ยวภาคเหนืออย่างทั่วถึงเลย เคยไปแค่ลำปางจังหวัดเดียวกับวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่ง แต่สามารถบรรยายความงามรวมๆ ของภาคเหนือตอนบนเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

อีกเพลงหนึ่งที่หัวหน้าทีมชอบและเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็ชอบเพลงนี้ และยังร้องกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้แก่ เพลง “ค่าน้ำนม” ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข ที่เริ่มด้วย “แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง” ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ แต่ความหมายลึกซึ้งนัก

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ทำให้ทราบว่า ครูไพบูลย์ แต่งให้แก่แม่ของท่าน แม่ที่รักท่านมากที่สุด ดูแลปรนนิบัติท่านอย่างใกล้ชิด และไม่รังเกียจ รังงอนใดๆเลย แม้ว่าครูไพบูลย์จะเป็น “โรค” ที่ผู้คนทั่วไปรังเกียจในยุคนั้น

เพลง “ค่าน้ำนม” ของครูไพบูลย์ ยังฮิตอยู่จนถึงวันนี้และเมื่อ “วันแม่” 12 สิงหาคมที่ผ่านมาหมาดๆ เราก็ยังได้ยินทั้งจากวิทยุหลายๆแห่ง และจากโรงเรียนเกือบทุกแห่งทั่วประเทศไทย ที่มีการจัดงาน “วันแม่แห่งชาติ”

อีกเพลงหนึ่งของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่หัวหน้าทีมซอกแซกร้องได้และชื่นชอบตั้งแต่อยู่ต่างจังหวัดก็คือเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย”

เพลงนี้ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข เช่นกัน หัวหน้าทีมซอกแซกฟังครั้งแรกจากหีบเสียงของเพื่อนบ้านข้างๆ ร้านที่อยู่อาศัยขณะเรียนหนังสือที่ปากน้ำโพ ยอมรับว่าขนลุกซู่ไปหมดทั้งตัวและชอบเพลงนี้ทันที

“กลิ่นโคลนสาบควาย” ออกวางขายสัปดาห์แรกได้ถึง 5,000 แผ่น ทั่วประเทศ ทั้งๆที่ราคาสูงถึงแผ่นละ 15 บาท และหนึ่งแผ่นในจำนวนนี้มาอยู่ที่บ้านข้างๆร้านที่หัวหน้าทีมพักอาศัยที่ปากน้ำโพนี่เอง

นอกจากเบื้องหลังของ 3 เพลงนี้แล้วยังมีเบื้องหลังของเพลงอื่นๆของครูอีกมากมายหลายเพลง รวมทั้งในยุคที่แต่งให้ ศรคีรี ศรีประจวบ และล่าสุดของล่าสุดคือเพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” อมตะเพลงลูกทุ่ง ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยแม้จนบัดนี้

ขอบคุณสำหรับหนังสือเล่มนี้ และขอบคุณสำหรับการรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นตำนานเพลงลูกทุ่ง และการสืบสานเพลงลูกทุ่งให้ยั่งยืนสืบไป.

“ซูม”