“สื่อ” กับ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ในวันและเวลาที่เปลี่ยนไป

มีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้เองว่า ในการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ซวดเซอย่างหนัก จากการระบาดของไวรัสโควิด–19 ในครั้งนี้นั้น

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณ ดนุชา พิชยนันท์ ได้ฝากข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสื่อยุคใหม่…เอาไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง

ท่านเลขา กล่าวตอนหนึ่งว่า ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับวิกฤติใหญ่ทางเศรษฐกิจรวม 3 ครั้งด้วยกัน

ได้แก่วิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” วิกฤติ “แฮมเบอร์เกอร์” และวิกฤติล่าสุดในขณะนี้ ซึ่งสาหัสมาก ได้แก่ วิกฤติ “โควิด–19” นั่นเอง

ประเด็นสำคัญที่ท่านฝากข้อสังเกตไว้ก็คือ ในวิกฤติ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ บรรดาข่าวสารข้อมูลด้านเศรษฐกิจ จะกระจายผ่านสู่ประชาชน ผ่านไปทาง สื่อหลัก เท่าที่มีอยู่ในยุคนั้น แต่เพียงอย่างเดียว

ซึ่งแต่ละสื่อหลักไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์, นิตยสาร, ทีวี หรือวิทยุ ก็มักจะมีระบบกลั่นกรอง ก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป

ต่างกับวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งเป็นยุคของ “โซเชียลมีเดีย” การแพร่กระจายของข้อมูลต่างๆ เป็นไปอย่างเร็วมาก และกว้างขวางมาก

ในทางหนึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ประชาชนเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว…แต่ข้อเสียก็คือข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้น บางครั้งก็ขาดการกลั่นกรอง ขาดการตรวจสอบว่าเป็นข่าวจริงหรือเท็จ ทำให้เกิด Fake news หรือข่าวเท็จแพร่หลายไปด้วย

ทำให้การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจยุ่งยากขึ้นกว่าในยุคก่อน เพราะหลายครั้งที่ประชาชนพากันเชื่อข่าวปลอมไปเสียแล้ว

ในฐานะสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้ง 3 วิกฤติที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์อ้างถึง และความจริงอยู่มากกว่านั้นอีก เพราะยังมีวิกฤติเศรษฐกิจย่อยๆ แต่หนักสำหรับประเทศเราเกิดขึ้นในอดีตอีกหลายครั้ง

ผมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของท่าน เลขาธิการสภาพัฒน์ ครับ

เพราะสื่อหลักในอดีตทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ล้วนมีเวลาที่จะกลั่นกรองที่จะวิเคราะห์ หรือตัดสินว่าอะไรเป็นข่าวจริง อะไรเป็นข่าวปลอม…อะไรควรเสนอและไม่ควรเสนอ มีส่วนอย่างมากในการประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายมากขึ้น

แถมในบางสถานการณ์กลับมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเสียอีก

ยกตัวอย่างก่อน พ.ศ.2527-2528 มีข่าวลือว่าธนาคารแห่งหนึ่งประสบปัญหาสภาพคล่อง มีการเล่าลือกันมาก แต่สื่อหลักก็มิได้นำข่าวลือที่ว่ามาลงหรือรายงาน ทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลงไปอีก

ประกอบกับวันหนึ่งท่านนายกฯ หรือป๋าเปรม ซึ่งปกติไม่ค่อยพูดกับนักข่าวมากนัก…กลับเดินไปหากลุ่มผู้สื่อข่าวทำเนียบเสียเอง พร้อมกับกล่าวว่า กระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติแจ้งมาแล้วว่า สถานะของธนาคารแห่งนั้นแข็งแกร่งมาก

วันรุ่งขึ้นสื่อหลักทุกฉบับก็พาดหัวยักษ์หน้า 1 ว่า ป๋าการันตีธนาคารดังกล่าวมีสถานการณ์มั่นคง…ทำให้วิกฤติของธนาคารแห่งนั้น ซึ่งอาจจะบานปลายเป็นวิกฤติการเงินทั้งระบบได้ กลับสู่ภาวะปกติในที่สุด

นี่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดในปัจจุบันยุคโซเชียลมีเดียครองโลก และสื่อหลักถูกลดบทบาทไปอย่างมาก…ผมก็ไม่แน่ใจว่า กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลโดยเฉพาะป๋าเปรม จะแก้ปัญหาครั้งนั้นได้อย่างไร

แต่ก็นั่นแหละครับโลกเราเปลี่ยนไป เมื่อระบบการสื่อสาร การกระจายข่าวและการเสพข่าวของมนุษยชาติเปลี่ยนไป…ผมก็หวังว่าภาครัฐก็คงจะปรับตัวเอง และปรับวิธีบริหารในการที่จะตั้งรับความรวดเร็วของข่าวสารในยุคนี้ได้อย่างเหมาะสมนะครับ

ที่น่าเป็นห่วงเห็นจะเป็นบรรดา “สื่อหลัก” เสียมากกว่า เพราะไปเชื่อกันว่า การเกาะข่าวโซเชียลอาจทำให้อยู่รอดได้ จึงหันไปเสนอข่าวจากโซเชียลมากขึ้นจนบางครั้งก็ลืมบทบาทในการกลั่นกรองข่าวต่างๆ ของตนเองไปเสีย

ผมก็ขอฝากบรรดาสื่อหลักที่ยังพอมีลมหายใจอยู่ทุกวันนี้ ได้โปรดช่วยกันรักษาความเป็น “เสาหลัก” ของบ้านเมืองเอาไว้ด้วยนะครับ

ผมยังเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากยังมีสติสัมปชัญญะและยังแสวงหา “สื่อ” ที่พวกเขาสามารถเชื่อถือได้…และตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว…ทุกวันนี้สื่อหลักของเมืองนอกที่ยังอยู่ได้ก็เพราะเลือกที่จะขายข่าวจริงและความจริงให้แก่ประชาชนที่ไม่เชื่อโซเชียลมีเดียนั่นเอง.

“ซูม”

ข่าว,​ สื่อ, โซเชี่ยลมีเดีย, หนังสือพิมพ์, สภาพัฒน์, เศรษฐกิจไทย, โควิด 19, ซูมซอกแซก