เจอแล้วมุก “แผลงศร” เขียนไว้ก่อน “คสช.” 2 วัน

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึง “มุก” เก่า ที่ผมมักจะนำมาเขียนถึงเสมอ เมื่อมีการเผชิญหน้าระหว่างคนไทยกลุ่มต่างๆ และเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายออกไปจนถึงขั้นลงมือประทะกัน

เป็น “มุก” เกี่ยวกับวรรณคดีไทย เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอน “พระราม” รบกับ “พระมงกุฎ” โอรสของท่าน แต่ไม่ทราบว่ามีสายสัมพันธ์ต่อกัน จึงแผลงศรหมายสังหารกันและกันหลายครั้ง แต่ก็สังหารไม่สำเร็จ เพราะศรได้กลายเป็น “อาหาร” บ้าง และเป็น “ข้าวตอกดอกไม้” บ้าง

พอเขียนเสร็จผมลองไปค้นของเก่าดูปรากฏว่าล่าสุดที่ใช้มุกนี้คือวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ครับ และตั้งชื่อเรื่องว่า “ศรศิลป์ไม่กินกัน… อยากให้เกิดขึ้นอีกครั้ง” ขออนุญาตคัดลอกมาสู่กันอ่านดังนี้ครับ

“ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมานี้ มีความร้อนแรงที่เป็นเหตุให้คนไทยเผชิญหน้ากันหลายต่อหลายครั้ง

ผมซึ่งรับบทบาทผู้ไกล่เกลี่ยมาตลอด เพราะไม่อยากเห็นคนไทยทะเลาะกัน ก็จะหยิบมุกนี้มาขอร้องคนไทยอยู่เสมอ

เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ตามมาด้วย 6 ตุลาคม 2519 เรื่อยมาจนถึง พฤษภาทมิฬ 1 สมัยบิ๊กสุ-มหาจำลอง และ พฤษภาทมิฬ 2 เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์กับคนเสื้อแดง

ดังนั้น เมื่ออ่านข่าวหน้า 1 วันนี้ถึงเหตุการณ์ที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ ผมก็ตัดสินใจว่าคงต้องเขียน โดยใช้มุกนี้อีกครั้ง…ต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่อ่านมาแล้วหลายครั้ง อย่าหาว่าผมเขียนซํ้าๆ ซากๆ เลย

นั่นก็คือมุกว่าด้วยสำนวน “ศรศิลป์ไม่กินกัน” ซึ่งเป็นสำนวนไทยแท้แต่โบราณมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “ศรศิลป์ไม่กินกัน” หมายถึงลูกธนูที่แต่ละฝ่ายยิงใส่กันนั้นไม่สามารถทำอันตรายกันได้ ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในวรรณคดี เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนที่ พระราม ต่อสู้กับ พระมงกุฎ ซึ่งเป็นลูก แต่ไม่ทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน

พระรามแผลงศรเพื่อสังหารพระมงกุฎ แต่ศรนั้นกลับกลายเป็นอาหารทิพย์ตกลงหน้า พระมงกุฎ และเมื่อพระมงกุฎแผลงศรไปยังพระราม ศรก็กลายเป็นธูป เทียน ดอกไม้ แสดงความเคารพพระราม

กี่ครั้ง กี่ครั้ง ก็เป็นเช่นนี้ ทำให้พระรามต้องกล่าวออกมาว่า “เรายงยุทธนาราวี ถ้อยทีศรศิลป์ไม่กินกัน จงเป็นมิตรไมตรีกันดีกว่า กุมาราอย่ารังเกียจเดียดฉันท์” จึงเข้าไปคุยกันแล้วรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นลูก

สำนวน “ศรศิลป์ไม่กินกัน” นี้แต่เดิมจึงมีความหมายว่า “ทำร้ายกันไม่ได้” แต่ต่อมากลายเป็นอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง การที่คน 2 ฝ่าย “ไม่ถูกกัน” หรือ “ไม่กินเส้น” กัน ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ครับ! นี่คือจินตนาการ หรือมโนของคนไทยในการแต่งหรือเรียบเรียงวรรณคดียุคก่อน ที่มองว่าพ่อลูกหรือญาติมิตรไม่ควรสู้กันรบกันและผลการรบจะเป็นเช่นนี้เสมอ คือไม่มีใครแพ้ชนะ

น่าเสียดายที่เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเพียงจินตนาการ หรือความนึกคิดเท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง ศรยุคปัจจุบันล้วนมีอิทธิฤทธิ์รุนแรง ไม่มีทางจะเป็นข้าวตอกดอกไม้หรือธูปเทียนได้เลย

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในยุคนี้ก็คือ ขอร้องล่วงหน้า และบอกกล่าวล่วงหน้าให้รู้ว่าเราเป็นญาติเป็นมิตรกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีไหน ล้วนเป็นคนไทยร่วมแผ่นดินทั้งสิ้น

ฉะนั้นอย่าทะเลาะกันเลย หาขนมนมเนยไปแบ่งกันกินจะไม่ดีกว่าหรือ และไม่ต้องถึงกับหาธูปเทียนไปคารวะอะไรกันหรอก แค่ถือดอกไม้ไปคนละช่อคนละดอกให้แก่กันและกันก็พอแล้วครับ”

หมายเหตุ ผมเรียนไว้ตอนต้นว่า ต้นฉบับชุดนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมได้รับเชิญจาก ธนาคารกรุงเทพ ไปร่วมเปิดสาขาใหม่ที่เมือง ฉ่งชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ก่อนออกเดินทางผมเขียนต้นฉบับล่วงหน้าทิ้งไว้หลายวันเช่นเคยรวมทั้งต้นฉบับเรื่องนี้ด้วย และก็ปรากฏว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อีก 2 วันหลังจากตีพิมพ์ (และขณะที่ผมกำลังนั่งรถชมเมือง ฉ่งชิ่ง) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามหัวหน้า คสช.ก็เข้ายึดอำนาจเรียบร้อย

วันนี้ขออนุญาตนำข้อเขียนมาลงอีกครั้งเพื่อเสริมข้อเขียนเมื่อวานให้สมบูรณ์ขึ้นและขอฝากบทเจรจาของ พระราม ให้ทุกๆ ฝ่ายพิจารณาด้วย น่าจะเป็นบทเจรจาที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ขณะนี้มากที่สุดนะครับผมว่า

“เรายงยุทธนาราวี ถ้อยทีศรศิลปไม่กินกัน จงเป็นมิตรไมตรีกันดีกว่า กุมาราอย่ารังเกียจเดียดฉันท์”

ฝากไว้ด้วยนะครับไม่ว่าฝ่ายพระรามหรือฝ่ายกุมารา!

“ซูม”

วรรณคดีไทย, รามเกียรติ์, การเมือง, พฤษภาทมิฬ, ซูมซอกแซก