“กรรม” ที่ตัวเองมิได้ก่อของ “รมว.” ศึกษาธิการ

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เวลาสัก 6 โมงเย็นเห็นจะได้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แวะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกเราที่ห้องรับรองอาคาร 1 หรืออาคารพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ตลอดการพูดคุยอันยาวนานเกือบ 2 ชั่วโมง ผมฟังและจดท่าเดียว จึงพูดน้อยกว่าคนอื่นๆ เหตุผลเพราะผมอยากฟังวิสัยทัศน์และแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาจากท่านมากกว่าอะไรทั้งหมด

เพื่อที่จะถือโอกาสประเมินและทดสอบไปด้วยว่าท่านเหมาะที่จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้หรือไม่ เพียงไร?

หลังจากคุยจบ ผมประเมินท่านว่า ท่านเหมาะสมแล้วที่มาอยู่กระทรวงนี้ และควรจะได้อยู่ต่อไป

ท่านทราบดีว่ากระทรวงนี้มีปัญหามากมายจนไม่สามารถทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ตามภารกิจหลักของกระทรวงให้แก่ประเทศชาติได้อย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวังไว้

ท่านจึงตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไข โดยท่านขออนุญาตไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูป” เพราะใช้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัด

จึงขอใช้คำว่า “รื้อ” ซึ่งเป็นภาษาบ้านๆ แทน…ท่านบอกพวกเราว่าท่าน “รื้อ” อะไรต่อมิอะไรที่เป็นปัญหาหลักของกระทรวงนี้ไปแล้วหลายอย่างและจะรื้อต่อไป

สำหรับวิสัยทัศน์ที่ท่านตั้งใจและอยากทำ เพราะท่านเห็นว่า เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและการพัฒนาของโลกในยุคนี้มากที่สุดก็คือ การพัฒนาระบบ อาชีวศึกษา ของประเทศไทย

ประเทศไทยต้องการคนมีความรู้ความชำนาญในเรื่องช่างเรื่องเทคนิคทุกแขนง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ท่านเชื่อว่า “อาชีวศึกษา” คือการตอบโจทย์อันสำคัญยิ่งของชาติข้อนี้ ถ้าอาชีวศึกษาดี การพัฒนาประเทศไทยไปได้ดีแน่นอน

ต่อมาก็มีน้องๆ หลายคนถามถึงเรื่องกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่ยกขบวนมาปักหลักหน้ากระทรวงและลุกขึ้นปราศรัยเรียกร้อง 3 ข้อ และตำหนิติติงท่านอย่างหนักหน่วง มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่?

ท่านขอไม่แสดงความเห็นว่า มีเบื้องหลังหรือไม่ แต่ถ้ามองเฉพาะสาระและข้อเรียกร้อง แม้จะใช้ภาษารุนแรงในการอภิปราย แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ท่านเห็นด้วย และกำลังหาทาง “รื้อ” อย่างที่เล่าให้พวกเราฟังตอนต้น

พวกเราชื่นชมว่าท่านวางตัวได้ดี มีความอดทนอดกลั้นที่ดี สามารถควบคุมอารมณ์และสติไว้ได้อย่างมั่นคง แม้จะโดนยั่วยุอย่างหนัก

ท่านตอบว่าที่ท่านควบคุมทุกอย่างได้ก็เพราะข้อเสนอของเด็กๆ ตรงกับใจท่านอยู่แล้ว ดังนั้นแม้รูปแบบของการเสนอ หรือการเรียกร้องจะเกินเลยไปบ้าง ท่านจึงไม่ถือสา

ผมฟังทั้งหมดแล้วก็ให้คะแนนท่านค่อนข้างดี จึงให้กำลังใจท่าน ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ในการ “รื้อ” กระทรวงศึกษาธิการต่อไป

อีกไม่กี่วันถัดมา กลุ่มนักเรียนเลวก็ยกขบวนมาอีกรอบ อภิปรายอย่างรุนแรงอีกรอบ และเราก็เห็นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขึ้นเวที “ดีเบต” กับเด็กๆ อีกรอบ

โดนเด็กๆ โขกสับ แจกนกหวีดประชดหนักกว่าเดิมเสียอีก แต่ท่านรัฐมนตรีก็ยังยิ้มสู้ และบอกผู้สื่อข่าวว่า จะนำข้อเสนอ 3 ข้อของเด็กๆ ได้แก่

1.หยุดคุกคามนักเรียน

2.ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง

และ 3.ปฏิรูปการศึกษา ไปพิจารณาและกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้

ในชีวิตผมมีโอกาสเดินเข้าเดินออกกระทรวงศึกษาธิการนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อครั้งรับราชการและต้องเดินเข้าไปประสานงานกับกระทรวงนี้

ผมจะรู้สึกท้อถอยกลับออกมาทุกครั้ง เพราะยุคนั้นกระทรวงนี้มี 14 กรม 14 อธิบดี จึงเรียกกันว่า “14 องค์ชาย” และทั้ง 14 องค์ชาย+องค์หญิงด้วย ต่างก็เปิด “ศึกสายเลือด” กันอุตลุต

แม้ผมจะรู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เด็กไทยเราก่อตัวประท้วงอะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่างในช่วงนี้ จนถึงขั้นเขียนระบายไว้ในคอลัมน์นี้ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

แต่ผมก็คงไม่โกรธไม่โทษเด็กๆ หรอกครับ

ถ้าจะโทษอะไรได้สักอย่าง ผมอยากจะกลับไปโทษ 14 องค์ชาย+องค์หญิงยุคโน้นนั่นแหละครับ ที่มัวแต่ทะเลาะกันเสียจนระบบการศึกษาของเราหมักหมมปัญหาเอาไว้เต็มไปหมด จนมาโดนเด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลานลุกขึ้น “ถอนหงอก” อย่างทุกวันนี้.

“ซูม”

กระทรวงศึกษาธิการ, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, ซูมซอกแซก