พาไปชมผลงาน 4 ยัง อาร์ตติสท์ เจเนอเรชั่นใหม่ ‘Mathayom Art Exhibition แสดงงานศิลปะสะท้อนชีวิตเด็กไทยในรั้วโรงเรียน

‘Mathayom Art Exhibition’ (มัธยม อาร์ต เอ็กซิบิชั่น) งานนิทรรศการศิลปะจากฝีมือนักเรียนเกรด 12 ของโรงเรียนนานาชาติ กรุงเทพ (ISB) ซึ่งเทียบเท่าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คนที่ต้องการถ่ายทอดตัวตน ความรู้สึก ประสบการณ์ในวัยมัธยมของพวกเขาผ่านผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 40 ผลงาน

โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 – 20.00 น. ณ Yelo House ซอยเกษมสันต์ 1

‘Mathayom Art Exhibition’ (มัธยม อาร์ต เอ็กซิบิชั่น) เกิดขึ้นจากเด็กนักเรียน 4 คน ได้แก่
แพรว  ธนวิสุทธิ์, ชวิศา อังควานิช, ณพ จึงสวนันทน์ และ เชษฐ์สุดา เฉลิมวัฒน์ ที่มีความชื่นชอบในงานศิลปะเหมือนกัน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความคิด มุมมอง ในช่วงวัยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงของพวกเขา โดยต่างได้หยิบยกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้สึก ประสบการณ์จริง ทั้งทางด้านนามธรรม และรูปธรรม ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ งานจิตรกรรม (Painting), งานประติมากรรม (Sculpture), งานภาพปะติด (Collage), งานศิลปะจัดวาง (Installation) และศิลปะภาพถ่าย (Photography) เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังสนใจ โดยงานของแต่ละคนนั้น มีคอนเซปต์ที่แตกต่างกัน แบ่งตามความสนใจของแต่ละคน

แพรว ธนวิสุทธิ์ นำเสนอผลงานศิลปะในคอนเซปต์ ‘ความต้องการ’ บอกเล่าให้เรารู้ถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ความรัก ความฝัน หรือความสัมพันธ์ทางกาย อีกทั้งยังนำประสบการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นตอนได้รับอุบัติเหตุ มาถ่ายทอดความเจ็บปวดที่ได้รับผ่านผลงาน Installation เฝือกอ่อนของตัวเองที่ยังทิ้งร่องรอยของความทรงจำไว้

ชวิศา อังควานิช นำเสนอผลงานศิลปะ ที่สะท้อนความเป็น Feminine ในตัวตนของเธอ และต้องการจะบอกว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีด้านขาว และด้านดำในตัวเอง ซึ่งคนเรามักจะนำเสนอด้านขาวให้คนอื่นเห็น และกอดเก็บความมืดดำไว้กับตัว และเมื่อวันใดที่ใจเราไม่แข็งแรงพอ ความมืดดำนั้นอาจจะทลายกำแพงจิตใจที่เราเพียรสร้างออกมาได้ ซึ่งหมายรวมถึงตัวเธอด้วยเช่นกัน

ณพ จึงสวนันทน์ ชายหนุ่มเพียงคนเดียวในงานนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ ผลงานของเขาร้อยเรียงขึ้นจากคอนเซปต์ ‘ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’ แม้ด้วยวัยเพียง 18 ปี แต่ว่าเขามองเห็นสังคมของ
ความไม่เท่ากัน และทำผลงานในเชิงเสียดสีสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกหลายแง่มุมที่ใครหลายคนไม่เคยมองเห็น ยกตัวอย่างผลงานภาพถ่ายของคนงานก่อสร้างที่กำลังสร้างตึกสักตึก ณพให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนงานเหล่านั้นกำลังสร้างขึ้น เขารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่และสำคัญ แต่ในทางกลับกันคนทั่วไปกลับมุ่งไปให้ค่ากับตึกที่พวกเขากำลังสร้างเท่านั้น

เชษฐ์สุดา เฉลิมวัฒน์ เธอถ่ายทอดผลงานศิลปะด้วยความเชื่อในเรื่องของ ‘ความสัมพันธ์และเวลา’ นำเสนอผ่านผลงานในรูปแบบต่างๆ โดยมีดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางของความสัมพันธ์ สั่งสมเก็บเกี่ยวเรื่องราวจากหนังสือที่อ่าน รวมถึงผู้คนที่พบเจอ และได้ปฏิสัมพันธ์กันในชีวิต ยกตัวอย่างผลงาน Installation ที่มีชื่อว่า Faces  ที่ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงบางครั้งในชีวิตคนเรา ก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่จะมายืนอยู่ข้างๆ เราในวันที่เราต้องการใครสักคนในช่วงเวลานั้น จะเป็นใครในชีวิต ซึ่งก็ไม่ต่างจากการจั่วไพ่ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าไพ่แต่ละใบที่เราหยิบขึ้นมามันจะออกอะไร

สำหรับนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมปลายทั้ง 4 คน ได้มีโอกาสแสดงความสามารถทางศิลปะ พร้อมนำเสนอแนวความคิดที่กำลังเติบโตของพวกเขา ให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นต่อไป