“ตู้แบ่งปัน” ทั่วถิ่นไทย ธารน้ำใจสู้ “โควิด-19”

ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับวันนี้ เริ่มเน้นไปที่การคลายล็อก “เฟส 2” โดยเฉพาะการเปิดห้างสรรพสินค้าที่มีข่าวว่าอาจจะเปิดในช่วง 14-15 พ.ค. ปลายสัปดาห์นี้ และกำลังรอการเคาะจาก ศบค.ชุดใหญ่

ผมไม่มีอะไรขัดแย้งครับ เพราะตระหนักดีว่า เมื่อถึงเวลาที่ “เหมาะสม” เราก็จะต้องปลดล็อก จะต้องคลี่คลายและค่อยๆ ฟื้นฟูกิจกรรมหรือธุรกิจต่างๆ ให้กลับคืนมา

ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าเหมาะสมแล้ว…โดยเฉพาะฝ่ายดูแลสุขภาพอนามัยอันได้แก่ “คุณหมอ” ทั้งหลาย ถ้าเห็นว่าเราน่าจะควบคุมการ “ระบาดใหญ่” ไว้ได้แล้ว เหลือเพียงการระบาดเล็กๆ ซึ่งถ้าระมัดระวังให้ดีๆ จะไม่กลับมาระบาดใหญ่ได้อีก…ก็ตัดสินใจเปิดได้เลย

เพราะก็อย่างที่หลายๆ คนพูดไว้แหละครับว่า “โรคอดตาย” หรือโรคไม่มีจะกินก็จะนำความเสียหายมาสู่สังคมไทยและประเทศไทยได้อย่างร้ายแรงเช่นกัน

ที่ผมยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศที่ตัดสินใจรวดเร็วเกินไป คลายล็อกเร็วเกินไป ทำให้เกิดระบาดหนักระลอกสอง ต้องเสียชีวิตลงอีกมากมายก่ายกองก็เพื่อให้ผู้รับผิดชอบบ้านเราพึงตระหนักไว้เท่านั้น

แต่ในการตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่างจะว่าดำเนินการแบบไหน? อย่างไร? และเมื่อไรนั้น อยู่ที่ข้อมูลข้อเท็จจริงของประเทศเราครับ

ระหว่างที่รอการตัดสินใจของรัฐบาลอยู่นี้ เรามาเขียนถึงเรื่องดีๆ เรื่องที่งดงามมากจนผมต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านบันทึกไว้สักเรื่องหนึ่ง

นั่นก็คือ เรื่องราวของ “ตู้ปันสุข” “ตู้ปันใจ” หรือ “ตู้เติมใจให้กัน” ฯลฯ สำหรับการแบ่งปันน้ำใจจากคนไทยที่ยังพอมีพอกินไปสู่พี่น้องอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในภาวะไม่มีกินอยู่ในขณะนี้

เริ่มจากผู้มีจิตกุศลมาตั้งตู้เอาไว้ ณ มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน ของตลาด ของสถานที่ในชุมชนที่ผู้คนเห็นง่ายเดินเข้าไปหยิบได้ง่ายๆ

โดยผู้ริเริ่มจะนำสิ่งของที่จำเป็น ตั้งแต่ข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง เนื้อกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม ยารักษาโรค เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย หรือบางครั้งก็เป็นอาหารปรุงสดพร้อมรับประทานบรรจุห่อ บรรจุกล่องเรียบร้อย ฯลฯ มาวางไว้ก่อน

พร้อมกับเขียนข้อความว่า “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีช่วยแบ่งปัน”

ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าสำหรับผู้ที่ขาดแคลนโปรดหยิบได้เลย และหยิบแต่พอดีๆ นะ (เหลือไว้ให้คนอื่นบ้าง) ขณะเดียวกัน ก็เชิญชวนเอาไว้ด้วยว่า สำหรับผู้ที่พอมีพอกินอยู่แล้วจะนำมาแบ่งปัน โดยมาเติม ในส่วนที่จะพร่องลงไปก็ขอเชิญได้เลย

ทำให้ “ตู้ปันสุข” หรือ “ตู้ปันนํ้าใจ” ที่ว่านี้เปรียบเสมือน “ตู้กลาง” หรือ “ตลาดกลาง” นั่นเอง

แต่แทนที่จะเป็นการพบกันระหว่าง “ผู้ผลิต” กับ “ผู้บริโภค” ตลาดกลางปันความสุขผ่านตู้ดังกล่าว จะเป็นการพบกันระหว่าง “ผู้เหลือกิน” กับ “ผู้ไม่มีจะกิน” ของแต่ละชุมชนทั่วประเทศ

ผมเคยเขียนไว้แล้วด้วยความห่วงใยว่า ในช่วงเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ ทั่วโลก เมื่อ ค.ศ.1930 หรือ พ.ศ.2473 เป็นต้นมานั้น ผู้คนในต่างประเทศอดอยาก หิวโหยกันมาก ต้องไปรอรับแจกซุปฟรี โดนัทฟรี ตามสถานที่แจกฟรีของรัฐบาล แถวยาวเหยียด

เห็นภาพแล้วก็ห่วงว่าอีกไม่นานข้างหน้า ความอดอยาก ความหิวโหยเช่นนั้นอาจจะเกิดขึ้นทั่วโลกอีกครั้ง รวมทั้งในบ้านเรา

ผมก็เสนอแนะว่าควรมีงบประมาณสำหรับจัดทำ “โรงทาน” ไว้แจกอาหารคนจนบ้างเน้อ อย่าเพิ่งรีบแจกเงินเสียจนหมดกระทรวงการคลัง ไปซะก่อนล่ะ

ได้มาเห็นภาพพี่น้องประชาชนชาวไทยคิด “ตู้ปันสุข” ขึ้นมาแผล็บเดียวกระจายไปทั่วประเทศ ก็รู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก

ถือเป็นการช่วยกันเองก่อนระหว่างประชาชนต่อประชาชน ก่อนที่รัฐบาลท่านจะตั้งโรงทานขึ้นในวันข้างหน้าว่างั้นเถอะ

ขอขอบคุณทุกน้ำใจแทนพี่น้องผู้ยากจน-คนตกงาน-คนอดมื้อกินมื้อไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง.

ป.ล. มีรายงานล่าสุดว่า หลายๆ จังหวัดมีคนเห็นแก่ตัวเอาถุง หรือกระสอบมาโกยเกลี้ยงเลย บางแห่งก็เข้ายื้อแย่งทันทีที่มีการนำของมาวาง โดยไม่รักษาระยะห่างทางสังคม ฯลฯ

ก็เอาเถอะทำใจซะว่า เราบริจาคไปแล้วยังไงๆ ก็ได้บุญ…ส่วนผู้คนที่เข้ามาโกย หรือเข้ามาแย่ง เขาคงอดอยาก-หิวโหยจริงๆ…อภัยเถอะครับ คนเราเวลาหิวอาจจะลืม “กิริยามารยาท” อันสมควรกันไปบ้าง.

“ซูม”