ย้อนฟัง “เชียงรายรำลึก” ก่อนเที่ยวเชียงราย 2563

เกริ่นเอาไว้ในคอลัมน์ประจำวันแล้วว่า ซอกแซกวันอาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องราวของจังหวัดเชียงรายที่หัวหน้าทีมซอกแซกยกทีมไปลุยมาเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องในโอกาสไปทำข่าว “อินเตอร์เนชั่นแนล วาเลนไทน์ บอลลูนเฟียสต้า 2020” หรือเทศกาลบอลลูนต้อนรับวันวาเลนไทน์ ปี 2563 ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

เรื่องราวของบอลลูนและการบอกรักลอยฟ้าหวานแหววแค่ไหนก็เขียนเป็นข่าวไปแล้วบ้าง บอกเล่าใน “เหะหะพาที” บ้าง ส่วนซอกแซกวันอาทิตย์ของเราจะว่ากันถึงเรื่องน่าเที่ยวน่ารู้ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งยังมีมากมายเขียนได้อีกหลายสัปดาห์โดยไม่ซ้ำกับปีกลายและปีก่อนโน้น ที่ไปงานเดียวกันนี่แหละและได้เขียนไว้แล้วหลายๆ เรื่อง

สำหรับปีนี้ถือโอกาสไปกราบ พระธาตุดอยตุง มาด้วย รวมทั้งแวะ พระตำหนักดอยตุง เยี่ยมชม สวนแม่ฟ้าหลวง ในช่วงขากลับด้วยความประทับใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าอย่างหาที่สุดมิได้

รุ่งขึ้นอีกวันชะแว้บไป จังหวัดพะเยา ทั้งไปไหว้พระและชมกว๊านอยู่หลายชั่วโมง ก่อนจะกลับเชียงรายแวะเข้า วัดร่องขุ่น อันโด่งดังที่ออกแบบโดยอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ

ทั้งหมดนี้คือหนังตัวอย่าง สำหรับซอกแซกจังหวัดเชียงราย 2563 ที่จะทยอยเล่าสู่กันอ่านตั้งแต่สัปดาห์นี้ไปอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

สำหรับสัปดาห์นี้ขอเริ่มด้วยการเขียนถึงเพลง “เชียงรายรำลึก” ก่อนก็แล้วกันเพราะเป็นเพลงที่ชอบมาก ทุกครั้งที่ไปเชียงรายกลับมาจะต้องเข้ายูทูบเปิดฟังเพื่อระลึกความหลังอยู่เสมอๆ

ประกอบกับเพลงนี้แต่งขึ้นเมื่อปี 2507 โดยนักดนตรีและนักแต่งเพลงที่เป็นวงท้องถิ่นของจังหวัดเชียงรายเอง และเริ่มฮิตร้องกันตามห้องอาหารและบาร์หรือไนต์คลับที่เชียงรายก่อนในช่วงแรกๆ

ซึ่งก็บังเอิญเป็นห้วงเวลาที่หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะข้าราชการชั้นตรีใหม่เอี่ยมอ่องของสภาพัฒน์ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของจังหวัดเชียงรายเข้าพอดี

ยังจำได้จนบัดนี้ว่าเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่ไปรับราชการที่ศาลากลางเชียงรายสมัยโน้นพาไปเลี้ยงอาหารเย็นที่ห้องอาหารริมแม่น้ำกกมีโอกาสได้ฟังเพลง “เชียงรายรำลึก” จากวงดนตรีของร้านอาหาร 2 หรือ 3 ครั้ง เวลาไปรับประทานอาหาร เพราะจะมีคนขอเพลงนี้อยู่เสมอ

ในบันทึกว่าด้วยตำนานของเพลงเชียงรายรำลึกระบุไว้ว่า ผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองได้แก่ อาจารย์ โกวิท เกิดศิริ ผู้ควบคุมวงดนตรีของ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ใน พ.ศ.ดังกล่าว

เมื่อแต่งและเรียบเรียงเสียงประสานเรียบร้อยแล้วอาจารย์โกวิทก็มอบหมายให้คุณ อุทัย วงค์วาลย์ ซึ่งเป็นพนักงานของโรงพยาบาลและเป็นนักร้องประจำวงเป็นผู้ร้องคนแรก จนเริ่มฮิตในระดับจังหวัด

ต่อมา สุริยัน บุญยศ นักร้องลูกทุ่งจากกรุงเทพฯ ได้ยินข่าวว่าเพลงนี้ไพเราะมาก จึงเดินทางมาฟังด้วยตนเองที่เชียงราย และขอซื้อเพลงนี้ ไปบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2520

จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า หลังจากนั้น ได้มีการนำเพลงนี้ไปขับร้องอย่างแพร่หลายและมีการบันทึกเสียงขึ้นใหม่โดยนักร้องดังๆใน อดีตอีกหลายๆท่าน อาทิ ชรินทร์ นันทนาคร, หยาด นภาลัย, นนทิยา จิวบางป่า, พิงค์ แพนเธอร์, สันติ ลุนเผ่, ฝน ธนสุนทร, อ๊อด คีรีบูน, ธานินทร์ อินทรเทพ, สุนทรี เวชานนท์ ฯลฯ

ล่าสุด คุณ รัตนา จงสุทธานามณี นักการเมืองชื่อดังของจังหวัดเชียงราย นำมาร้องใหม่ในชุดเชียงรายดอกไม้งาม มีคนเข้าฟังในยูทูบถึง 1,788,841 หรือเกือบ 2 ล้านวิว อย่างเหลือเชื่อ

จังหวัดเชียงรายในยุคที่เพลง “เชียงรายรำลึก” เพิ่งแต่งใหม่ๆ คือ พ.ศ.2507 นั้น นับเป็นจังหวัดที่ทุรกันดาร และ “ไปยาก” จังหวัดหนึ่งของประเทศไทย จากกรุงเทพมหานครจะต้องขับรถ ไปที่ลำปางแล้วเลาะภูเขาแถวๆ งาว ที่ชวนเวียนหัวไปยาวนานมาก ก่อนจะลงสู่ที่ราบผ่านอำเภอพะเยา (ซึ่งต่อมาก็คือจังหวัดพะเยา) วิ่งไปอีกพักใหญ่ๆ

จึงจะถึงเชียงรายจำได้ว่าพวกเราใช้รถแลนด์โรเวอร์รุ่นพระเจ้าเหา ของสภาพัฒน์ดั้นด้นไปจนถึงเชียงรายด้วยความยากลำบากและยังจะต้องเดินทางต่อไปเชียงใหม่ ซึ่งใน พ.ศ.ดังกล่าว ยังไม่มีเส้นทางสายดอยสะเก็ด-เวียงป่าเป้า-เชียงราย อย่างในปัจจุบัน จะต้องกลับไปไต่เขาที่ลำปางอีกหน แล้วค่อยเดินทางจากลำปางไปเชียงใหม่อีกทอด

พวกเราสรุปกันว่าจังหวัดเชียงราย เมื่อ 55 ปีที่แล้วต้องการการพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะ คมนาคมขนส่ง และควรพัฒนาอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเมืองที่สวยงาม ประชาชนมีน้ำใจโอบอ้อมอารีเหมาะแก่การส่งเสริมด้านท่องเที่ยว

หัวหน้าทีมซอกแซกไปเชียงรายหนนั้นแล้วก็ห่างเหินไปกว่า 10 ปี จนถึง พ.ศ.2520 (ในช่วงเวลากับที่เพลงเชียงรายรำลึกขึ้นมาฮิตในระดับชาติแล้ว) จึงลงไปอีกครั้ง เพื่อศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมไว้สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาชนบท ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากนั้นก็ไปแล้วไปเล่านับ 10 ครั้ง เพราะเชียงรายเป็น 1 ในจังหวัดยากจนรายได้เฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างน้อยจังหวัดหนึ่ง ที่จำเป็นจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

ปัจจุบันเชียงรายเจริญก้าวหน้ามาก มีเส้นทางไปมาหาสู่ที่ค่อนข้างสะดวก โดยเฉพาะเครื่องบินมีวันละหลายๆเที่ยว และกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเมืองหนึ่งของภาคเหนือสมดังที่พวกเราเคยแอบลุ้นไว้ในสมัยโน้น

ครับ! ก็ขอเริ่มซอกแซกชุด “รีเทิร์น ทู เชียงราย 2563” ด้วยเรื่องราวของเพลง “เชียงรายรำลึก” เป็นประเดิมเสียก่อนก็แล้วกัน เพื่อรำลึกความหลังเมื่อ 50-60 ปีที่แล้วของหัวหน้าทีมซอกแซกกับความประทับใจที่มีต่อจังหวัดนี้

ก่อนจบคอลัมน์อาทิตย์นี้ ขอแนะนำให้ ลองไปเข้ายูทูบฟังเพลง “เชียงรายรำลึก” กันสัก 2–3 รอบนะครับ จะฟังเวอร์ชันไหนก็ได้ ไพเราะทุกๆเวอร์ชันแหละครับ–ขอบอก!

ซูม