เหตุสลดใจที่ “โคราช” หลายบทเรียนที่ต้องถอด

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่จังหวัดนครราชสีมา กรณี “จ่าคลั่ง” ใช้อาวุธสงครามกราดยิงประชาชนและเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 ศพ และบาดเจ็บรวม 58 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ของวันเดียวกัน

ที่ต้องระบุเวลาและวันที่เขียนเอาไว้เช่นนี้ก็เพื่อจะเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่าวันนี้เป็นวันที่ผมแทบเขียนอะไรไม่ออก และต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะเขียนจบ เพราะรู้สึกสลดใจอย่างบอกไม่ถูกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่า ผมเองก็เหมือนคนไทยจำนวนมากที่ติดตามการรายงานสดทางโทรทัศน์มาตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ข้ามวันข้ามคืนเป็นเวลาประมาณ 17 ชั่วโมงกว่าเหตุการณ์จะยุติลง

ผล็อยหลับไปบ้างในช่วงดึกๆ แต่ก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาดูต่อทำให้นอนไม่พอรู้สึกสมองตื๊อจนเขียนอะไรแทบไม่ออกอย่างที่ว่า

จะไม่ให้ติดตามก็ไม่ได้ครับ เพราะนี่คือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย จนถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมายถึงเพียงนี้

ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวญาติมิตรของผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บทุกๆ ท่านไว้ ณ ที่นี้

รวมทั้งขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสียเจ้าหน้าที่ผู้กล้าหาญไปหลายท่านในปฏิบัติการดังกล่าว

เราจะไม่มีวันลืมความกล้าหาญและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของทุกๆ ท่าน และหวังว่าทางฝ่ายราชการก็คงจะไม่ลืมเช่นกัน…ขอให้ดูแลครอบครัวของผู้กล้าหาญทั้งหลายให้ดีที่สุด

ขณะเดียวกันก็ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกๆ ฝ่ายที่สนธิกำลังกันลงไปปฏิบัติการจนสามารถวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุได้ในที่สุด

ขอบคุณหน่วยกู้ภัยและหน่วยสนับสนุนต่างๆ ที่ทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ขอบคุณคณะแพทย์พยาบาลในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงทุกโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ผนึกกำลังกันไปช่วยดูแลรักษาผู้บาดเจ็บตั้งแต่วันแรกๆ

ขอบคุณประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาและใกล้เคียงที่แห่กันไปโรงพยาบาลเพื่อบริจาคเลือดสำหรับช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจนเกินความต้องการ แต่ก็ไม่เสียหลายเพราะยังสามารถเก็บไว้ใช้ในโอกาสอื่นๆ ได้

นี่คือน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยทอดทิ้งกันในทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์อันวิกฤติและสะเทือนขวัญสะเทือนใจขึ้นที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง

ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บินไปให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและแวะเยี่ยมผู้บาดเจ็บ ตลอดจนร่วมแสดงความเห็นใจแก่ญาติมิตรของผู้เคราะห์ร้ายและโพสต์ข้อความไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ไว้ว่า เราจะร่วมกันถอดบทเรียนครั้งนี้และจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

ในเรื่องการถอดบทเรียนนั้น ผมคิดว่าสำคัญที่สุด และต้องถอดให้ครบถ้วนในทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะทางฝ่ายทหารจะต้องให้ความสนใจในการถอดบทเรียนมากที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ผู้ก่อความเสียหายเป็นคนของกองทัพ

เมื่อตอนจับผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งก่อเหตุด้วยวิธีการที่คล้ายๆ ทหารเป็นผู้ดำเนินการ เพราะอยู่ในเขตทหารด้วย (จังหวัดลพบุรี) แต่พอเปิดโผออกมาพลิกล็อกกลายเป็นครู ทำให้กองเชียร์ทหารโล่งอก

แต่คราวนี้เป็นฝีมือของทหาร ซึ่งอยู่กับอาวุธสงครามโดยตรง เมื่อนำมาก่อเหตุจึงเกิดผลเสียสูงสุด ดังตัวเลขที่ปรากฏ

ผมมิได้เขียนซ้ำเติมแต่อย่างใด และมีความเชื่อมั่นและให้เกียรติทหารไทยมาตลอด แต่สำหรับครั้งนี้คงต้องฝากไว้ให้เป็นกรณีศึกษาอย่างจริงจังนะครับท่าน ผบ.ทบ. เพื่อนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

อีกกรณีหนึ่งก็คือ เรื่องของสังคมยุคใหม่ หรือ โซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ศึกษาเอาไว้ด้วย

ผู้ก่อเหตุสังหารโหดรายนี้ ฆ่าคนไปโพสต์ข้อความไป เซลฟี่ไป ทำเหมือนสนุกและมีความสุขกับการโพสต์เฟซบุ๊ก

นี่เป็น “โรคใหม่” ที่เกิดขึ้นเพราะความคลั่งไคล้โซเชียลมีเดียหรือไม่? ก็น่าจะลองศึกษาเพื่อหาการป้องกันในอนาคตด้วยนะครับ

แต่ไม่ว่าผลการถอดบทเรียนจะเป็นอย่างไร ผมขอภาวนาให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้จงเป็นครั้งสุดท้ายเถิด…เพราะแค่ครั้งแรกและครั้งเดียวก็เจ็บปวดอย่างบอกไม่ถูกแล้ว…อย่าให้มีครั้งที่ 2 อีกเลยครับ.

“ซูม”