รีวิว…Classic Again : การกลับมาของ “ความรู้สึก” ที่เราไม่ได้สัมผัสจากหนังไทยมานาน 8/10

Classic Again : การกลับมาของ “ความรู้สึก” ที่เราไม่ได้สัมผัสจากหนังไทยมานาน
“…ยังอยู่ตรงนั้น ไม่เปลี่ยนผันตามกาลเวลา ยังคงงดงาม และล้ำค่า ติดอยู่ในหัวใจ…”

17 ปีที่แล้วในยุคที่ “ภาพยนตร์รักแบบฉบับเกาหลี” ก้าวขึ้นครองกระแสจอเงินเมืองไทยชื่อของ “The Classic คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต” (2003) คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยังติดตราตรึงใจทุกผู้ทุกนามที่ได้รับชม ด้วยเหตุการณ์ของลูกสาวคนหนึ่งผู้บังเอญไปเจอกล่องความทรงจำ ซึ่งได้เก็บรักษาจดหมายและข้าวของของ “รักแรก” ของแม่เอาไว้ การได้ค่อยๆ อ่านจดหมายของแม่แต่ละฉบับนั้นทำให้เธอรู้ว่า แม่ในตอนนั้น กับเธอในตอนนี้ ต่างประสบปัญหา “รักสามเส้า” เช่นเดียวกัน เมื่อเธอตกหลุมรักผู้ชายที่เพื่อนสนิทของตัวเองชอบ แล้วก็ต้องป็นกามเทพให้เพื่อนในระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมละครของชมรม….ทั้งเธอและแม่ต่างก็ต้องผ่านพ้นปัญหานี้ไปให้ได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

แต่เธอไม่รู้เลยว่าการได้อ่านจดหมายของแม่ในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงความรักของเธอไปตลอดกาล…

และคงเป็นเพราะชั่วโมงนั้น Plot หนังรักที่เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่าง “ความจริง ความน่าจะเป็น และอุดมคติ” อย่างเหมาะเจาะลงตัวได้ขนาดนี้ คือรสชาติใหม่ที่พาทุกคนได้มีความสุขไปเหตุการณ์ของตัวละคร พร้อมกับทำปฏิกิริยากับความทรงจำส่วนบุคคลของแต่ละคน

เรื่องราวของเราอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปจากตัวหนังแต่ความรู้สึกที่บังเกิดในเรื่องคือประกายทางอารมณ์บางอย่างที่สว่างวาบในใจเราเหมือนๆ กันและเรื่องราวในหนังอาจจะดูเป็นความบังเอิญมากมายแต่ไม่ได้หมายความว่าไร้ความเป็นไปได้อย่างสิ้นเชิงในชีวิตจริงการบริหารพื้นที่ทางความรู้สึกอย่างชาญฉลาดของตัวหนังภายใต้การกุมบังเหียนของกวัก แจยง” (Kwak Jae-yong) ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่มีดีกรีเป็นถึงบิดาผู้ให้กำเนิดจักรวาล ยัยตัวร้าย” – My Sassy Girl (2001) ทำให้เราทุกคนยินดีที่จะวิ่งฝ่าสายฝนในชีวิตไปพร้อมๆ กับรอยยิ้ม เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่อง…

ความสำเร็จเมื่อ 17 ปีที่แล้วท่วมท้นขนาดไหนเราคงไม่ต้องเล่ากันมากแค่การันตีด้วย ซน เยจิน” (Son Ye-jin) ผู้ควบบทนางเอกทั้งยุคแม่และยุคลูกสาวในตอนนั้น ได้ก้าวขึ้นบัลลังก์ ราชินีเมโลดราม่าของวงการบันเทิงเกาหลีไปในทันที และเมื่อเธอกลับมาในซีรีส์ Crash Landing on You จาก Netflix ในปี 2020 นี้ ก็ที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง

แล้วก็ดูจะเป็นเรื่องน่าอิ่มใจเมื่อถึงยุคที่ “กระแสความโหยหาอดีต” อันเป็นรสนิยมการบริโภคสื่อบันเทิงของคนไทยอันดับต้นๆ จะชวนผู้กำกับภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของเมืองไทยให้หันมาค้นกล่องความทรงจำมองความรู้สึกที่ “ภาพยนตร์รักแบบฉบับเกาหลี” ได้ทิ้งเอาไว้ในใจของเราอีกครั้งด้วยการประกาศ Remake ภาพยนตร์ / ซีรีส์เกาหลีในยุคนั้นหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะผลงานของกวักแจ-ยงมี My Sassy Girl เป็นอาทิและแน่นอน… The Classic จะหลุดโผไปได้อย่างไร

แล้วก็นับได้ว่า “Classic Again จดหมาย สายฝน ร่วมวิเศษ ภาพยนตร์ Remake สัญชาติไทยของ The Classic ได้เปิดศักราชการย้อนระลึกถึงความรู้สึกละเมียดละไม เปรี้ยวหวานขม แบบรักรสช็อกโกแลตที่ซื่อสัตยืและสัมผัสกับใจคนดูได้ดีทีเดียว

“…นานเท่าไหร่แล้วที่เราไม่ได้สัมผัสความรู้สึกรักรสช็อกโกแลตแบบนี้จากหนังไทย…”

เราปฏิเสธความจริงข้อนี้จาก Classic Again ไม่ได้เลยจริงๆ เพราะหันไปมองเฉพาะ “หนังรักของเมืองไทย” ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างวนเวียนอยู่กับรักต่างวัย รักข้ามเพศ เลยไปจนถึงรักชาติ รักแผ่นดิน และที่ได้รักกระแสไปมากที่สุดคือรักขายขำ คนบ้าคนบวมคนขาดคนเกินมารักกัน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ผิด…แต่เป็นเรื่องที่เราต่างเข้าใจกันดีอยู่แล้ว

และเราก็ไม่ได้จะกล่าวว่าความรู้สึกรักของ Classic Again มันจะดีเด่นสูงค่ากว่าความรักที่นำเสนอแบบอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Classic Again ทำให้เราได้รับความรู้สึกบางอย่างที่ห่างหายไปจากหนังไทยนานแล้ว นั่นคือ ความรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับความรัก

ความรักที่ค่อยเป็นค่อยไป… มีธรรมชาติของตัวมันเอง เศร้าบ้าง เสียใจบ้าง สุขสมบ้าง แต่เราก็ยังไปต่อกับมันความรัก…ที่ถึงแม้ผู้ชมจะมีใครสักคนหรือไม่มีในตอนนี้ ก็รู้สึกชุ่มชื่นไปกับมัน ครามรัก…ที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอินไปกับมันเพียงเพราะเห็นคนหน้าตาดีสองคนที่เป็นพระเอกกับนางเอกรักกัน ความรักที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอยากจะจิกหมอนเขินอายไปกับมัน

แต่เป็นความรักที่เราคุ้มค่าที่จะเสียน้ำตาให้ ไม่ว่าจะเพราะความอาดูรหรือยินดีก็ตาม…

แน่นอนว่าความดีความชอบส่วนหนึ่งของ Classic Again ต้องยกให้เค้าโครงเรื่องและวิธีการเสนอของต้นฉบับเดิมที่ผู้ Remake จำต้องเคารพและคงความเอาไว้ แต่งานสร้างสรรค์อีกส่วนหนึ่งที่ทีมงานสร้างฉบับไทยนี้ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียวคือการแปลงสภาพบริบทของเกาหลีให้สอดคล้องกับเมืองไทยและเลือกจับช่วงเวลาอดีต – ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในเรื่อง

ด้วยการย้อนให้เหตุการณ์รุ่นพ่อแม่เกิดในสมัย พ.ศ. 2510 ส่วนเหตุการณ์รุ่นลูกนั้นเกิดในปี พ.ศ. 2546 (ปีเดียวกับที่ The Classic ต้นฉบับเกาหลีออกฉายนั่นแหละ) เมื่อ โบต้า”(มิ้นท์รัญชน์รวี เอื้อกูลวราวัตร) มือเขียนบทละครเวทีชมรมได้พบกับกล่องความทรงจำที่ ดาหลา” (รับบทโดยมิ้นท์รัญชน์รวี เช่นกัน) แม่ของเธอได้เก็บจดหมายและข้าวของแห่งความทรงจำกับรักครั้งแรกที่ชื่อ ขจร” (นิวฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ) จนได้มาเป็น Plot ละครเวทีที่ นน” (จี๋สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร) หนุ่มสถาปัตย์ตัว Top ระดับเดือนมหาวิทยาลัย เห็นแล้วตกลงรับบทพระเอกของละครชมรมทันที และสนใจตามหามือเขียนบทเรื่องนี้ แต่โบต้าก็จำต้องปิดบังไว้ เพราะเพื่อนสนิทที่สุดของเธอและนางเอกละครชมรมอย่างป๊อปปี้ (เมโกะชนนิกานต์ เนตรจุ้ย) ก็มีใจให้นน เหมือนกับเธอ…ที่แอบรักเขาแต่แรกเช่นกัน

แล้วจะด้วยเพราะเป็นข้อบังคับจากทางเกาหลีให้กำหนดปีในเรื่องแบบนี้ หรือเป็นเพราะ Gimmick ของทีมงานสร้างฉบับไทยเอง การกำหนดอดีตและปัจจุบันของเรื่องราวแบบนี้ก็ได้ส่งผลดีต่อกลิ่นอายความรักในเรื่อง “ที่มันยากกว่าในยุค 2563” ที่เราอยู่นี้ แล้วก็ทำให้เห็นว่าความรักของคนในยุคก่อนๆ (สำหรับเรา) ทั้งสองยุคนั้น เป็นสิ่งละเอียดอ่อนกว่ายุคเรามากเพียงไร

ในส่วนของงานสร้างนั้น หลายๆ ฉากก็เหมือนเราได้ย้อนกลับไปอยู่ในรูปถ่ายเก่าของพ่อแม่กันจริงๆ  ฉากงานโรงเรียนและงานเต้นรำนั้น ทำได้น่าประทับใจอย่างมาก และเมื่อรวมการ “กำกับศิลป์” ที่ทำได้ดี กับ “การกำกับภาพ” อย่างตั้งใจ ก็ทำให้เราหัวใจพองโตไปกับความงามที่กระตุ้นความรู้สึกบางอย่างในความทรงจำของเราให้หัวใจได้พองโตอีกครั้ง

โดยเฉพาะฉาก ร่มวิเศษ ทั้งของนน และโบต้า Classic Again ทำให้เราได้เห็นสายฝนที่จะกลายเป็นสายฝนที่สวยงามที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับเราในโลกภาพยนตร์ สายฝนที่สวยงามและซ่อนน้ำตา น้ำตาที่จำเป็นจะต้องชะล้างเพื่อมองรุ้งงามในตอนท้ายได้อย่างเต็มตา

และอีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบคือการซ่อนจังหวะของมุกตลกแบบน่ารักๆ กลมกล่อมไปกับบรรยากาศของเรื่อง อย่างเช่นในฉากบ้านผีสิง และมุกเบาๆ แต่เป็น Easter Egg สำหรับผู้ชมที่เคยดูต้นฉบับเกาหลีมาแล้ว อย่างโปสเตอร์ละครเวทีของชมรมนั่นเอง

แม้จะมีบางจุดที่ทำให้ถูกตัดคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย อย่างบทพูดบางบท ที่ออกจะแปร่งๆ ไปสักหน่อย ไม่ว่าจะวัดกันด้วยมาตรฐานตอนนี้ หรือ 2516 จนทำให้นักแสดงเก็บอาการความ “ไม่อิน” กับบทพูดได้ไม่มิด จนสื่อสารผ่านการแสดงออกมาอย่างไม่เต็มที่ รวมทั้งการเน้นยำด้วยมุมกล้องบางจังหวะที่ดูจงใจเกินไป อย่างเช่นจังหวะ “นอกจากรักคุณแล้ว ผมไม่เก่งอะไรเลย” ที่ทำให้ประโยคตีหัวเข้าบ้านประโยคนี้ ไม่แรงเท่าที่มันควรจะเป็น

แต่เชื่อเลยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ใครหลายๆ คน หันมาจับตามองมิ้นท์ – รัญชน์รวี เอื้อกูลวราวัตร นางเอกของเรื่องที่ไม่ได้มีดีที่ความงาม แต่พ่วงทักษะการแสดงที่เกิดขึ้นจากการทำความเข้าใจบทและตัวละครได้ดี จนสามารถบริหาร “จริต” ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ดาหลา” ในรุ่นแม่ และ “โบต้า” ในรุ่นลูกได้อย่างเชื่อสนิทใจว่าเธอคือทั้งสองตัวละคร โดยเฉพาะดาหลา ที่ทำให้เราเผลอคิดว่าเธอนั้นเกิดในยุค 2516 จริงๆ ด้วย “ความพอดี” ในการแสดงออกอย่างคนยุคก่อนนั้น ซ้ำยังทำงารบ้านเพื่อส่งต่อลักษณะบางอย่างจากตัวละครแม่ไปสู่ลูกได้อย่างดี

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเคยรับชมต้นฉบับ “The Classic คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต” มาก่อนหรือไม่นั้นไม่สำคัญเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่  “Classic Again จดหมาย สายฝน ร่วมวิเศษ” ได้มอบให้กับเรานั่นก็คือความรู้สึกที่ว่า…

ขอบคุณที่ทำให้ความรู้สึกบางประการที่ได้กลับมาทำงานอย่างเต็มเปี่ยมในใจเราอีกครั้ง

“…หนึ่งความทรงจำ ที่คอยย้ำถึงใครคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามา

แม้เราต้องร่ำลา แต่เรื่องราวเหล่านั้นไม่จางหายไป…”

คะแนน 8/10
Pitirach Joochoy