วัน “ธรรมศาสตร์สามัคคี” ปีนี้มี “ปาฐกถา” น่าฟัง…2 เรื่อง

ความจริงวันนี้ผมเขียนเรื่องอย่างอื่นเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เผอิญไปเจอพี่มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสของพวกเราชาวไทยรัฐที่หน้าโรงโขน “สืบมรรคา” หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

พี่บอกว่าจะฝากข่าวการจัดงาน “วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย.2562” สักหน่อย เพราะปีนี้จะมีการแสดงปาฐกถาน่าสนใจถึง 2 เรื่อง

ผมก็บอกพี่ว่าผมส่งต้นฉบับสำหรับวันอังคารที่ 5 พ.ย.ไปเรียบร้อยแล้ว แต่อาจจะแซะตอนจบออกเพื่อเขียนประชาสัมพันธ์ให้พี่ได้สัก 4-5 บรรทัด ขอทราบรายชื่อผู้แสดงปาฐกถา และเวลาขึ้นโพเดียมด้วยขอสั้นๆ นะครับพี่

แต่พอเห็นหัวข้อเรื่องที่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จะขึ้นพูดในวันนี้เท่านั้นแหละ ผมก็เปลี่ยนใจหันมาเขียนให้ทั้งคอลัมน์เลย ส่วนเรื่องที่เขียนไว้แล้วขอผัดผ่อนไปพรุ่งนี้ก็ยังไม่สายเท่าไรนัก

เหตุเพราะท่านที่จะขึ้นเวทีท่านแรกก็คือ ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย เสาหลักเสาหนึ่งของประชาธิปไตยในช่วงของรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เรากำลังใช้กันอยู่นี้

ท่านจะมาแสดงความเห็นในหัวข้อ “ความหวังของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” เข้าเหตุการณ์ปัจจุบันเป๊ะเลย

ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึก อเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันนี้เวลา 10.30 น. ถึง 11.00 น.

อีกหนึ่งท่านที่จะแสดงปาฐกถาต่อจากท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย ได้แก่ ท่านประธานศาลฎีกา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ น่ะครับ เวลา 11.00 น. ถึง 11.30 น.

ในหัวข้อ “คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ?”

เป็นอีกหนึ่งหัวข้อ หรือประเด็น หรือกระแสที่มีการพูดถึงกล่าวขวัญถึงในประเทศไทยของเรามาเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่ผมเป็นเด็กเมื่อ 50 ปี 60 ปีก่อน ก็ได้ยินแล้วว่า “คุกเมืองไทยมีไว้สำหรับขังคนจนเท่านั้น”

เพราะคนรวยมักจะไม่ค่อยติดคุก เพราะมีสตางค์มีเงินจ้างทนาย รู้ทางหนีทีไล่เอาตัวรอดจากการติดคุก หรือผ่อนหนักเป็นเบาได้เสมอๆ

หรือมิฉะนั้นก็ใช้อิทธิพล ใช้อำนาจ วาสนาบารมี ทำให้เกิดความเบี่ยงเบนในกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนต่างๆโดยเฉพาะขั้นตอนแรกๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อทางคณะผู้จัดงาน “วันธรรมศาสตร์ สามัคคี 5 พ.ย.” ได้เรียนเชิญท่านประธานศาลฎีกา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ มาแสดงปาฐกถา เพื่อจะตอบคำถามที่คาใจผู้คนในสังคมไทยมาโดยตลอดเช่นนี้ จะไม่ให้ผมแซงคิวเขียนเชิญชวนให้ไปรับฟังปาฐกถาของท่านได้อย่างไรล่ะครับ

สำหรับวัน “ธรรมศาสตร์ สามัคคี” นั้นถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์สืบเนื่องมาจากการเข้ายึดมหาวิทยาลัย ณ ท่าพระจันทร์ กลับคืนมาจากฝ่ายทหารเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 หรือเมื่อ 68 ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านั้นเกิดกรณีกบฏวังหลวง 2492 และกบฏแมนฮัตตัน 2494 รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ให้ทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมกับให้นักศึกษาแยกกันไปเรียนตามที่ต่างๆ อย่างคณะพาณิชยศาสตร์ฯ และคณะเศรษฐศาสตร์ก็ไปฝากให้เรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดม ฯลฯ เป็นต้น

แถมยังปล่อยข่าวว่าจะใช้อาคารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ทั้งหมดเป็นโรงทหารถาวร หรือไม่ก็เป็นโรงแรมไปซะงั้น

นักศึกษายุคนั้นจึงวางแผนยึดมหาวิทยาลัยคืนโดยทำทีว่าไปทัศนศึกษาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เหมารถไฟไปประมาณ 3 พันคน พอดูบึง ดูปลาเสร็จนั่งรถไฟกลับก็นัดแนะรถเมล์ขาวขบวนใหญ่ไปรับนักศึกษาทั้งหมดจากสถานีหัวลำโพงไปท่าพระจันทร์ กรูเข้ายึดมหาวิทยาลัยคืนด้วยมือเปล่า

เป็นที่มาของคำขวัญ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” และวันที่ 4 พฤศจิกายนของทุกๆ ปีก็กลายเป็น “วันธรรมศาสตร์ สามัคคี” โดยรื้อฟื้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 และจัดติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ขอเชิญศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ไปรำลึกความหลังกันอย่างพร้อมเพรียงนะครับ สำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มิใช่ศิษย์เก่าก็อย่าเกรงใจ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นของท่านทั้งหลายอยู่แล้ว… ขอเชิญเข้าฟังปาฐกถากันเยอะๆ ด้วยนะครับ ฟังฟรีแถมอาจได้รับประทาน ฟรี เพราะพี่มานิจบอกผมว่าจะมีเลี้ยงอาหารกลางวันด้วยหลังปิดงาน.

“ซูม”