ปิดตำนาน “สวนสยาม” ? ลงทุนใหม่/เปลี่ยนชื่อใหม่

ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานตรงกันว่าตั้งแต่มะรืนนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน) เป็นต้นไป “สวนสยาม” สวนสนุกเก่าแก่ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาเกือบๆ 40 ปี จะเปลี่ยนชื่อใหม่ เพราะมีการรีแบรนด์ใหม่เรียบร้อยแล้วก็รู้สึกใจหาย

จากชื่อดั้งเดิมแบบไทยๆ เขาจะเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาอังกฤษไปเลยว่า “สยาม อเมซิ่ง พาร์ค” (Siam Amazing Park) เติมคำว่าอะเมซิ่งลงไปด้วยตรงกลางชื่อ

ด้วยเหตุผลที่ว่าจากการลงทุนใหม่ครั้งนี้ ซึ่งลงมือก่อสร้างไปแล้วและจะต้องใช้เงินอีกหลายพันล้านบาทนั้น ได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาให้คำปรึกษาด้วย และบริษัทที่ปรึกษาก็เสนอแนะให้มีการ รีแบรนด์ สวนสยามเพื่อให้พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป

จึงเปลี่ยนชื่อและมีการเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะให้ผู้คนเข้าดูเข้าชมได้มากขึ้นขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น รวมทั้งปรับปรุงการบริหารจัดการไปสู่ระบบใหม่ที่ทันยุคทันสมัย

ไม่เพียงแต่จะ “รีแบรนด์” เปลี่ยนชื่อใหม่ เปลี่ยนลุคใหม่เท่านั้น ข่าวยังบอกด้วยว่า คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้ให้กำเนิดสวนสยามก็จะวางมือจากการบริหารในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ส่งมอบให้ทายาททั้ง 3 คนของคุณไชยวัฒน์รับไปบริหารจัดการ เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่และลุคใหม่อย่างเต็มตัว

จะไม่ให้ผมใจหายได้อย่างไรล่ะครับ เพราะคุ้นกับคำว่า “สวนสยาม” มาตั้งเกือบ 40 ปี จู่ๆ คำนี้จะหายไปกลายเป็นภาษาฝรั่งอย่างที่ว่า

ขณะเดียวกันก็คุ้นกับคุณไชยวัฒน์ ซึ่งถ้าจะว่าไปก็ถือเป็นคนวัยเดียวกัน ท่านอายุมากกว่าผม 3 ปี, และรู้จักมักคุ้นกันพอสมควรในฐานะที่ท่านเป็นนักธุรกิจบ้านจัดสรรและสวนสนุก ส่วนผมเป็นนักข่าว นักเขียน เคยเขียนถึงท่านและผลงานของท่านบ่อยครั้ง

เฉพาะ “สวนสยาม” จะเขียนให้บ่อยที่สุด เพราะเคยมีโครงการร่วมกับมูลนิธิไทยรัฐหลายโครงการในช่วงเปิดใหม่ๆ

จู่ๆ คุณไชยวัฒน์ก็จะมาวางมือเสียเช่นนี้ แฟนสวนสนุกรุ่นเก่าอย่างผมจึงอดใจหายเสียมิได้

แต่ก็ต้องทำใจครับ เพราะโลกจะต้องหมุนต่อไป คนรุ่นเราเมื่อสมควรแก่เวลาก็จะต้องวางมือ ส่งไม้ให้คนรุ่นใหม่ๆ เขารับช่วงต่อ

ซึ่งเมื่อฟังความคิดความเห็นของลูกๆ โดยเฉพาะลูกสะใภ้ นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิส ที่ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงแล้วก็เข้าใจได้ทันทีว่า…ทำไม?

เธอบอกว่า สวนสยาม ทำให้คนนึกถึงสวนน้ำ นึกถึงทะเลกรุงเทพ กับสวนสนุกเท่านั้น อยากให้เปลี่ยนแนวความคิดว่าที่นี่คือสถานที่ที่ผู้คนทุกวัย ทุกเพศมาเที่ยวได้ และมีอะไรๆ ที่มากกว่าสวนน้ำและสวนสนุก

เธอขยายความคำว่า “มากกว่า” ไว้ว่า ต่อไปไม่นานนักจะมีเพิ่มอีก 1 โซน เป็นโปรเจกต์ยักษ์ระดับเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท ในชื่อ “บางกอกเวิลด์” ขนาด 70 ไร่ ซึ่งจะเป็นการจำลองกรุงเทพฯในอดีตมาไว้ในที่เดียวกัน

มีทั้ง ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง เยาวราชไชน่าทาวน์ ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบีกริมแอนโก ฯลฯ และห้างใหม่สำหรับจำหน่ายสินค้าโอทอป ฯลฯ จะเปิดเต็มรูปแบบในปี 2564

ในขณะที่ ของเก่า ที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่อย่างเช่น สวนน้ำ, เครื่องเล่นท้าความเสียว, ดินแดนผจญภัย ดินแดนเครื่องเล่น สำหรับครอบครัว และเครื่องเล่นไซส์เล็กสำหรับนักผจญภัยตัวน้อยก็จะยังอยู่ครบครัน

เพียงแต่มีการปรับปรุงใหม่ลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นให้เฟี้ยวฟ้าวกว่าเก่าสนุกกว่าเก่าอีกหลายๆ เท่า

ผมก็ขอต้อนรับ “แบรนด์ใหม่” และขอให้กำลังใจให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงในอนาคต

สำหรับชื่อใหม่นั้นจะคุ้นปากคุ้นหูคนไทยหรือไม่ เพราะเป็นภาษาฝรั่งมังค่าออกเสียงยากกว่าเก่า แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ สวนสนุกยุคใหม่ ไม่ใช่จะให้บริการเฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังพุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวด้วย

หลายๆ ชื่อไทยหรือแม้แต่ชื่อจีนพอเปลี่ยนเป็นฝรั่งๆ หน่อยมักประสบความสำเร็จมาเสียนักต่อนัก

ขอให้ “สวนสยาม” เอ๊ย! “สยาม อะเมซิ่ง พาร์ค” จงประสบ ความสำเร็จเช่นกัน อยู่เคียงคู่ประเทศไทยตลอดไปนะครับ.

“ซูม”