ไปดูเขื่อน “ไซยะบุรี” แบตเตอรี่ใหม่เมืองลาว

เมื่อตอนที่บริษัทซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ช.การช่าง ส่งคนมาทาบทามผมประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนโน้น ผมแทบจะไม่ใช้เวลาในการตัดสินใจแม้แต่วินาทีเดียว

เพราะอยากไปเห็น อยากไปดูการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ แห่งใหม่ของลาว หรือโครงการไซยะบุรีอยู่แล้ว

ผมติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศของ สปป.ลาว มานานพอสมควร ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการคนหนึ่งของ สมาคมมิตรภาพไทยลาว ยุคแรกๆ เมื่อหลายๆ ปีก่อนโน้น

จำได้ว่าความมุ่งมาดปรารถนาที่สำคัญประการหนึ่งของเขาก็คือจะพัฒนาประเทศ สปป.ลาวให้เป็น “แหล่งผลิตไฟฟ้าแห่งเอเชีย” หรือ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ให้จงได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

ด้วยเหตุที่ประเทศของเขาเป็นประเทศที่สมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ เพราะนอกจากจะมีแม่น้ำโขงไหลผ่านแล้ว ก็ยังมีแม่น้ำสาขาของแม่โขงที่แยกออกไปเป็นแม่น้ำสายย่อยๆ อีกถึง 11 สาย

สามารถนำทรัพยากรนํ้ามาปั่นทำ “ไฟฟ้า” ทั้งเพื่อใช้เองและขายให้ประเทศอื่นๆ เป็นรายได้ก้อนใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว

จึงเกิดโครงการ “เขื่อนน้ำงึม” เมื่อหลายปีก่อนผลิตไฟฟ้าขายประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2534 ปีละ 150 เมกะวัตต์

ต่อมาในปี 2553 ก็มีโครงการ “เขื่อนน้ำงึม 2” ผลิตไฟฟ้าได้อีกปีละ 600 เมกะวัตต์ ส่งขายลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งก็คือไทยแลนด์เช่นเคย

และต่อมาของต่อมา ก็มีข่าวอีกว่า สปป.ลาวตัดสินใจก่อสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าแหล่งใหญ่ขึ้นอีก โดยจะสร้างเป็นฝายกั้นน้ำกลางแม่น้ำโขงเลยละเที่ยวนี้ ที่แขวงไซยะบุรี ห่างจากหลวงพระบางประมาณ 80 กิโลเมตร

โดยจะมีกำลังการผลิตถึง 1,285 เมกะวัตต์ มากกว่ากำลังการผลิตของน้ำงึม 1 กับน้ำงึม 2 รวมกันเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนลูกค้าที่จะไปเหมาซื้อก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีกแหละ…นอกเสียจากไทยแลนด์แดนสยามที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกือบ 30,000 เมกะวัตต์ และไม่สามารถจะผลิตเองได้พอ ต้องขอซื้อจากลาวมาสมทบตั้งแต่น้ำงึม 1 อย่างที่ว่า

ผมติดตามข่าวเหล่านี้มาหลายปีแล้ว เมื่อได้รับคำเชิญให้ไปดูชมการก่อสร้างโครงการที่ไซยะบุรี จึงตอบรับทันทีดังที่เขียนไว้ตอนต้น

ซึ่งในที่สุดก็ได้เดินทางไปถึงไซต์โครงการมาเรียบร้อย ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไปตระเวนดูตั้งแต่นั่งรถเวียนรอบๆโครงการจนถึงลงไปย่ำข้ามสันเขื่อนที่กำลังสร้างอยู่ แถมด้วยการลงลิฟต์ชั่วคราว ลงลึกไปอีกเกือบ 30 เมตร เพื่อดูอุโมงค์ที่ต่อไปจะเป็นช่องให้น้ำผ่านเพื่อปั่นไฟ 1,285 เมกะวัตต์ที่ว่า

ซักไซ้ไล่เลียงแสวงหาความรู้ในทุกๆ ด้าน รวมทั้งประเด็นสำคัญที่สุดคือด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายๆ ประเทศที่อยู่ท้ายนํ้าห่วงใย

เช่นโครงการไซยะบุรีจะทำให้ตะกอนนํ้าโขงที่มีคุณค่าด้านเกษตรไม่ไหลลงไปท้ายนํ้า รวมทั้งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพันธุ์ปลาอันมากมายมหาศาลในแม่นํ้าโขง…หรือไม่อย่างไร?

ผมได้คำตอบมาครบถ้วนทุกข้อ จะทยอยเขียนให้ท่านผู้อ่านทราบ ต่อไปเป็นระยะๆนะครับ

กลับมาที่ประเด็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” อีกสักครั้ง เพราะยังติดใจวิสัยทัศน์และความปรารถนาของรัฐบาลลาวที่เขามั่นใจมากว่าเขาจะเป็นได้อย่างแน่นอน จนถึงขนาดวาดภาพไว้ในตราสัญลักษณ์ของประเทศเลยทีเดียว

ท่านที่เคยเห็นตราสัญลักษณ์แผ่นดินของเขาคงจำได้ นอกจากจะมี พระธาตุหลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอันเป็นสัญลักษณ์ของเขาแล้ว เขายังออกแบบให้มีเขื่อนน้ำงึม เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของเขาไว้ด้วย

แสดงถึงความเชื่อมั่นในความเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียโดยแท้จริง

สปป.ลาวจะบรรลุถึงความปรารถนาในเรื่องนี้หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป แต่อย่างน้อย ณ ปัจจุบันเขาสามารถหาลูกค้ารายใหญ่ได้แล้ว 1 ประเทศคือ ประเทศไทยของเรานี่แหละ

ผลิตไฟฟ้าได้เท่าไรไทยแลนด์ขอซื้อหมด และอาจจะเหมาหมดอีกหลายปี เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงมาก ยิ่งจะไป 4.0 ก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ต้องขายไฟฟ้าไปทั่วเอเชียหรอกครับ ขายให้ประเทศไทยประเทศเดียวก็รวยแล้ว สปป.ลาว.

“ซูม”