เมื่อราวต้นๆ สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองได้มีการเผยแพร่เอกสารว่าด้วย “รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกประจำปี 2017” ที่จัดทำโดยองค์กรบรรเทาทุกข์ “ออกซ์แฟม” ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่กลายเป็นข่าวใหญ่ของโลก เมื่อสื่อมวลชนต่างๆ นำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
สาระสรุปของรายงานฉบับนี้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2017 หรือปี 2560 ที่ผ่านมาถึงร้อยละ 82 ไปตกอยู่ในกระเป๋าของกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดของโลกที่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในขณะที่คนยากจนที่สุดที่มีถึง 3,700 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกแทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากความมั่งคั่ง หรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เลย
คนที่อยู่ข้างบนซึ่งรวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยขึ้นอีก ในขณะที่คนยากจนที่อยู่ข้างล่างสุดก็ยังยากจนข้นแค้นกันต่อไป
รายการฉบับดังกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อเอาทรัพย์สินของบุคคลร่ำรวยที่สุดเพียง 3 คนของสหรัฐฯ มารวมกัน ยอดรวมของทรัพย์สินนั้นจะพอๆ กับทรัพย์สินของคนจนทั้งโลกรวมกัน
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยอีกว่า ผู้บริหารของเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลก 5 แบรนด์ ทำงานเพียง 4 วันเท่านั้น ได้รับผลตอบแทนมากกว่าคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศที่ทำงานมาตลอดทั้งชีวิต
ในช่วงท้ายๆของรายงานฉบับที่ว่านี้ เรียกร้องให้รัฐบาลนานาชาติเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจต้องใช้มาตรการหลายๆ ประการในการจัดการปัญหา ควบคู่ไปกับการเพิ่มงบประมาณในการดูแลคนจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านประกันสุขภาพและการศึกษา
ผมอ่านเจอข่าวนี้ซุกๆ อยู่ในหน้าในๆ ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เกรงว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากจะไม่ได้อ่าน จึงขออนุญาตสรุปเป็นย่อความนำมาสู่กันอ่านในคอลัมน์นี้อีกครั้งหนึ่ง
ถ้าจะว่าไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกรณี คนรวยรวยขึ้น แต่คนจนกลับยากจนลง และความมั่งคั่งไปอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยมากกว่าคนส่วนใหญ่ของโลก ก็มีการพูดถึงและนำตัวเลขมาวิเคราะห์อยู่เสมอๆ
แต่ที่ทำให้รายงานนี้โด่งดังน่าจะเป็นการยกตัวอย่างหรือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน นั่นแหละครับ…เช่นที่บอกว่าคนรวยที่สุดในสหรัฐฯ 3 คน มีทรัพย์สินเท่ากับทรัพย์สินของคนจนทั้งโลกรวมกัน อ่านแล้วก็เห็นภาพชัดเจนขึ้นมาทันทีทันควัน
ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการพูดถึงปัญหาที่บ้านเรา เรียกกันว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” มาหลายปีแล้ว เพราะจากการทำสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของเขาพบว่า “ช่องว่าง” ระหว่างคนรวยกับคนจนของเขาก็ถ่างกว้างขึ้นด้วยเหมือนกัน
แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน เพราะมาตรการหนึ่งที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกใช้คือการเก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้น เพื่อนำมาช่วยคนจนนั้น ก็ปรากฏว่า แผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประโยชน์แก่คนรวยมากเสียกว่าอีก จากที่หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ในขณะนี้
ทางบรรเทาปัญหาประการหนึ่งที่หลายๆประเทศทั่วโลกใช้ก็คือ ดูแลคนจนให้ดีที่สุดให้ได้รับความจำเป็นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะ ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน การรักษาโรค และการศึกษาให้ครบถ้วน
โดยหวังว่าเมื่อคนจนได้รับบริการหลักๆ เหล่านี้แล้ว แม้จะเกิดความเหลื่อมลํ้าทางด้านรายได้ แต่ความรู้สึกเคืองแค้น รู้สึกว่าโดนเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจะบรรเทาลง
นโยบายของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันก็อย่างที่ทราบกันแล้วว่าจะเดินหน้าไป 4.0 จะเพิ่มรายได้ประชาชาติให้คนไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงขั้นต้น
ซึ่งก็เป็นนโยบายที่ดี ผมเห็นด้วย แต่ก็คงต้องฝากไว้อีกครั้งว่า เรื่องของความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เร่งมากไปก็จะเจอปัญหาอย่างที่องค์กร “ออกซ์แฟม” เขาออกรายงานมานี่แหละ
ขอให้รัฐบาลใช้ความรอบคอบและดำเนินการอย่างรอบคอบควบคู่กันไป อย่าให้ช่องว่างมันห่างเสียจนวันหนึ่งมีคนมาสรุปตัวเลขในทำนองเดียวกับออกซ์แฟมว่า…
เศรษฐีตระกูลใหญ่ 3 อันดับแรกของประเทศไทยมีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับทรัพย์สินคนจนของประเทศไทย 10.4 ล้านคน ตามตัวเลขที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลังก็แล้วกันครับ.
“ซูม”