ผมยอมรับว่าคนยุค 2.0 ค่อนๆมาทาง 3.0 อย่างผม นับวันแต่จะเกิดความมึนงงและไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากขึ้น ในยุคที่ประเทศไทยของเรากำลังจะเข้าสู่ยุค 4.0
เพราะแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ดูจะมีเรื่องราวใหม่ๆ ศัพท์แสงใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยคนรุ่นผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องรู้ราวนักอยู่ตลอดเวลา
พอจะทำความเข้าใจและรู้เรื่องได้สักเรื่องหนึ่งก็มีเรื่องใหม่ๆ หรือศัพท์แสงใหม่ๆ มาอีกแล้ว
อย่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ก็มีคำว่า “ทีแคส” โผล่มาตามหน้าหนังสือพิมพ์ และโซเชียลต่างๆ
โดยเฉพาะในโซเชียลจะโผล่ออกมาอย่างถี่ยิบว่าเจ้า “ทีแคส” ที่ว่านี้เปรียบเสมือนตัวผู้ร้ายหรือเชื้อโรคพันธุ์ใหม่ที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนที่เตรียมตัวสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ปวดอกปวดใจ ถึงร้องห่มร้องไห้ไปตามๆกัน
ไม่ใช่ร้องไห้ครั้งเดียวนะครับ ที่บ่นกันอยู่ในโซเชียลน่ะถึง 2-3 ครั้ง
คนแก่ตกรุ่นอย่างผม ซึ่งยังเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์อยู่จะปล่อยให้ผ่านไปก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะคุยกับคนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง ก็เลยต้องไปหาความรู้อุตลุดว่าเจ้า “ทีแคส” ที่ว่านี้คืออะไร?
ต้องขอขอบคุณหน้าการศึกษาของ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ลงข่าวเอาไว้อย่างต่อเนื่องและเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาก็ลงยาวเหยียดเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่หน้า “ข่าวการศึกษา ศาสนา และสาธารณสุข” เลยทีเดียว
ทำให้ผมถึงบางอ้อว่า เจ้า “TCAS” “ทีแคส” ที่ว่านี้ก็คือระบบการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยแบบใหม่นั่นเอง
ย่อมาจาก Thai University Central Admission System ที่นำมาใช้ในปี 2561 นี้เป็นปีแรก
โดยแบ่งการสอบออกเป็น 5 รอบ โดยแต่ละรอบจะใช้เหตุผลหรือเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เพื่อประโยชน์ในการลดการได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ ลดช่องว่างการเสียโอกาสอันเกิดจากการที่เด็กบางคนสอบติดหลายๆอย่าง แล้วไม่ไปเรียน ฯลฯ
ผมก็จับประเด็นใหญ่ๆ มาได้เพียงเท่านี้แต่ในรายละเอียดโดยเฉพาะพวกเงื่อนไขในการสอบแต่ละครั้ง ยอมรับตรงๆ ว่า ยังอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องครับ
เพราะเต็มไปด้วยศัพท์แสงที่มีความหมายเป็นการเฉพาะ และอักษรย่อที่รู้เป็นการเฉพาะอีกหลายๆตัวย่อ
ใครมีลูกมีหลานอยู่ในวัยที่จะสอบเข้า หรือเอ็นทรานซ์ คงต้องไปหาความรู้กันเอาเองนะครับ
เมื่อไม่รู้อะไรมาก ผมก็คงไม่ออกความเห็นอะไรที่มากเกินไปเช่นกัน นอกเสียจากจะตั้งข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆฝากไว้เท่านั้นว่า ที่ระบบการศึกษาของเราทุกวันนี้ดูจะย่อหย่อนอ่อนด้อยแพ้เขาไปทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม มาจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นเพราะเราชอบทำอะไรที่ง่ายๆให้เป็นเรื่องยากๆ และยุ่งๆหรือเปล่าหนอ?
เดี๋ยวปรับโน่นเดี๋ยวเปลี่ยนนี่ เดี๋ยวจะเอาระบบนั้น เดี๋ยวจะเอาระบบนี้ เปลี่ยนกันอยู่นั่นแหละ ทำให้เด็กไทยปรับตัวไม่ทัน ผลการเรียนทุกๆระดับจึงแย่ลง
ถ้าเราปรับเปลี่ยนให้น้อยลงมาหน่อย เปลี่ยนอะไรทีหนึ่งก็ใช้ให้นานๆหน่อย คุณภาพและมาตรฐานเด็กไทยเราอาจจะดีกว่านี้
รวมทั้งระบบ “ทีแคส” อะไรนี่ด้วย ฝ่ายที่เสนอให้ใช้ก็บอกว่าเป็นระบบที่ดีจะแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ และเสียค่าสมัครสอบจำนวนมากได้จริง และจะกระจายโอกาสให้เด็กที่เรียนไม่ค่อยเก่งมากนักได้ดีกว่า
เผอิญว่าเอามาใช้ปีแรกจึงเกิดปัญหาขึ้นบ้าง อย่างที่มีเสียงร้องเรียน จะแก้อะไรให้เข้าที่เข้าทางก็จัดการซะ หรือถ้าเห็นว่าไม่ดีตรงไหน จะปรับตรงนั้น หรือจะเลิกทั้งหมดก็ว่ากันไป
แต่เมื่อนำมาใช้แล้วก็ขอให้ใช้ไปนานๆ อย่าเปลี่ยนบ่อยนัก จนทำให้เด็กไทยและพ่อแม่ผู้ปกครองไทยที่ยุคนี้แทบจะลงไปเรียนไปสอบกับลูกๆอยู่แล้วท่านเกิดความสับสน
อย่าให้ใครเขามาต่อว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจเหมือนที่โซเชียลเขาวิพากษ์ วิจารณ์กันในขณะนี้ว่า ระบบ TCAS อะไรก็ไม่รู้หลายมาตรฐานจนหามาตรฐานอะไรไม่ได้เลย แล้วเราจะไป 4.0 ได้ยังไงล่ะ?
ผมไม่ได้ว่าเองนะครับเพียงแต่ฟังเขาว่ามา ก็เอามาบอกบิ๊กตู่ให้ทราบไว้ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ต้องถึง “ครูอังคณา” หรือ “บิ๊กตู่” เท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้.
“ซูม”