และแล้วโรงภาพยนตร์ “ลิโด้” 1 ในตำนานของโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง 3 ใบเถาแห่งย่านสยามสแควร์ในยุคบุกเบิก ก็โบกมืออำลาไปอีกหนึ่งโรง
หลังจากที่ “พี่ใหญ่” โรงภาพยนตร์สยาม อำลาไปก่อน จากการเกิดเหตุการณ์วุ่นวายยุคประเทศไทยอยู่ในช่วงแข่งกีฬาสีแบ่งขั้วการเมืองเป็น 2 ฝ่าย มีการปะทะมีการเข้าลอบวางเพลิงในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นสมรภูมิเลือดโดยตรง เกิดเพลิงไหม้ โรงภาพยนตร์สยาม จนทรุดและพังถล่มลงมาแบบไม่เหลือซาก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ยังเหลือก็แต่ “น้องเล็ก” โรงภาพยนตร์ สกาลา ซึ่งยังมีกำหนดฉายอยู่ แต่สัญญาเช่าที่กับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ใกล้จะหมดสัญญาแล้ว จะอยู่หรือไปอีกไม่นานเกินรอคงจะรู้กันละครับ
สำหรับ “ชายกลาง” หรือโรงภาพยนตร์ ลิโด้ ได้ฤกษ์อำลาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง บรรยากาศเต็มไปด้วยความซึมเศร้า มีแฟนๆที่เติบโตมากับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ไปร่วมอาลัยหนาตาตั้งแต่เที่ยงวัน
ในวันสุดท้ายของลิโด้จะฉายภาพยนตร์ 2 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ฝรั่ง (แก้ไข: เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น) เรื่อง “Tonight at the Romance Theater” กับภาพยนตร์ญี่ปุ่น “Kids on the Slope” อีก 1 เรื่อง สลับกันไปทั้ง 3 โรง 1-2-3 แต่รอบสุดท้ายจริงๆ จะปิดด้วยภาพยนตร์ญี่ปุ่นในเวลา 20.15 น. ทั้ง 3 โรง
ย้อนอดีตกลับไป หัวหน้าทีมซอกแซกเองก็มีความหลังผูกพันอยู่กับโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่งอยู่ไม่น้อย ในฐานะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเคียงคู่ไปกับการทำงานเลี้ยงชีพ เพราะเคยรับผิดชอบ คอลัมน์ “วิจารณ์บันเทิง” ของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ก่อนมาอยู่ไทยรัฐ ต้องไปดูภาพยนตร์ที่ 3 โรงนี้ เพื่อเก็บเรื่องราวมาเขียนถึงอยู่เสมอๆ
โรงภาพยนตร์สยาม เกิดขึ้นก่อนเพื่อนจึงได้ชื่อว่า “พี่ใหญ่” เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2509 ด้วยภาพยนตร์ยิ่งใหญ่เรื่อง “รถถังประจัญบาน” (Battle of the Bulge) ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
“ลิโด้” ถือกำเนิดอีก 2 ปีถัดมา เปิดฉายวันแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2511 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “ศึกเซบาสเตียน (Games For San Sebastian) คนแน่นเอี๊ยดเต็มความจุ 1,000 ที่นั่ง
ในขณะที่ สกาลา ถือกำเนิดถัดมาอีก 1 ปีเศษๆ หลัง ลิโด้ มีขนาด 1,000 ที่นั่งเช่นกัน แต่ก่อสร้างและตกแต่งแบบคลาสสิกผสมผสานตะวันออกและตะวันตก สง่างามกว่าพี่ใหญ่และชายกลางหลายเท่า
น้องเล็กเปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2512 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก” (The Undefeated)
โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่คนไทยที่นิยมภาพยนตร์ต่างประเทศมาโดยตลอด เป็นแหล่งนัดพบและแหล่งช็อปปิ้งของคนมีระดับติดต่อกันมาไม่ขาดสาย
จนกระทั่งปี 2536 เกิดไฟไหม้โรงภาพยนตร์ลิโด้ จึงมีการสร้างและปรับปรุงใหม่แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจำนวน 3 โรง เรียกว่า ลิโด้ 1-2-3 และติดตั้งระบบเสียงแบบทันสมัยเช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามศูนย์การค้าทั้งหลาย
พร้อมๆกันนี้ก็มีการปรับปรุงด้านล่างของโรงภาพยนตร์เป็นช็อปเล็กๆนับร้อยช็อป สำหรับจำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องประดับตามแฟชั่นต่างๆ กลายเป็นศูนย์รวมของแฟชั่นที่คนหนุ่มสาวนิยมสูงสุดอยู่เป็นเวลานาน
แต่ในที่สุดงานเลี้ยงก็มาถึงวันเลิกรา เมื่อมีโรงภาพยนตร์ใหม่ๆทันสมัยโผล่ผุดขึ้นตามศูนย์การค้าจำนวนมาก ทำให้ความสำคัญของโรงภาพยนตร์ 3 ศรีพี่น้องแห่งสยามสแควร์เริ่มลดลงตามลำดับ
โรงภาพยนตร์สยาม อำลาไปก่อน เพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ดังได้กล่าวไว้แล้ว และ ปัจจุบันก็เกิดใหม่กลายเป็น “สยามสแควร์วัน” แต่ยังมีเชื้อของความบันเทิงหลงเหลืออยู่บ้าง โดยมี โรงละครเคแบงก์ สยามพิฆเนศ อยู่บนชั้นบนสุด
จากนั้นก็ถึงคิวของ ลิโด้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคมดังได้กล่าวไว้แล้ว
สำหรับ สกาลา ความจริงทางสำนักงาน จัดการทรัพย์สินจุฬาฯก็ยินดีต่อสัญญาให้ แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการจะถอดใจ เพราะฉายภาพยนตร์อย่างเดียว รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายคงต้องรอไปอีกสักพัก จึงจะตัดสินใจว่าจะฉายต่อหรือไม่อย่างไร? หากไม่ฉายก็อาจจะต้องโบกมืออำลาอีกเช่นกัน
กลับมาที่บรรยากาศวันสุดท้ายของลิโด้อีกสักนิดนะครับ เสียดายที่หัวหน้าทีมซอกแซกมีภารกิจในตอนบ่าย ไม่สามารถอยู่ร่วมบรรยากาศได้นานนัก…ทำได้เพียงแค่เดินไปรอบๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจากโรง 1 อ้อมไปโรง 3 แล้ว ก็ลงไปดูด้านล่างที่จำหน่ายเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่นต่างๆอีกหน่อยหนึ่งเท่านั้น
เกือบทุกร้านขึ้นป้าย “วันสุดท้าย” เหมือนๆกันหมด เห็นแล้วก็ใจหาย เดาไม่ถูกเหมือนกันว่า แม่ค้าพ่อค้าแถวๆนี้จะไปมีแหล่งขายใหม่ ณ ที่ใด
ถ้าจะว่าไปอาคารต่างๆโดยรอบโรงภาพยนตร์ลิโด้ ค่อนข้างจะทรุดโทรมมากแล้ว รวมทั้งตัวโรงทั้ง 3 โรง ก็ดูเก่ามาก ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าทางทรัพย์สินจุฬาฯจะไปดำเนินการก่อสร้างเป็นศูนย์อะไรต่อไปในอนาคต
ลาก่อนโรงภาพยนตร์ลิโด้…ขอบคุณสำหรับความบันเทิงและความสุขที่มอบให้แก่คนไทยมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานจากวันโน้นถึงวันนี้
เปิดฉายครั้งแรก 27 มิถุนายน 2511 ปิดโรง 31 พฤษภาคม 2561 เหลือแค่เดือนเดียวเท่านั้นจะครบ 50 ปี หากจะปัดเศษเป็น 50 หรือกึ่งศตวรรษให้เต็มๆไปเสียเลย คงไม่มีใครขัดข้องนะครับ.
“ซูม”