ทฤษฎี “ลูกเถ้าแก่” กรณีศึกษา “ในอาเซียน”

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 หรือเดือนนี้เมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับ “เถ้าแก่” ปั้นทายาทของตนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอบริษัทถึง 3 ประเทศด้วยกันในอาเซียน

เริ่มจาก กัมพูชา วันที่ 7 สิงหาคม 2566 พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง พล.อ.ฮุน มาเนต บุตรชายคนที่ 2 ของท่าน เอกอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านฮุน เซน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามายาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2541 (ประมาณ 25 ปี) ราวกับว่ากัมพูชาเป็นบริษัทส่วนตัวของท่าน แต่ฮุน เซน ก็ได้มีการเตรียมการลูกชายของท่านที่จะให้เข้ามารับตำแหน่งอย่างชนิดสมบูรณ์แบบ

เช่นเดียวกับเถ้าแก่ใหญ่ของบริษัทใหญ่ๆ ภาคเอกชนในอาเซียนทั้งหลายที่มักจะฟูมฟักเตรียมตัวให้ลูกชายหรือลูกสาวขึ้นมาเป็นซีอีโอบริษัทแทนพ่อ โดยใช้สูตรอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปสูตรหนึ่ง

นั่นก็คือส่งลูกไปเรียนนอกไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดและเหมาะที่สุดกับกิจการของบริษัทนั้นๆ ซึ่งเมื่อจบมาแล้วก็ให้เข้าฝึกงานเข้าทำงานในบริษัทของตนจากตำแหน่งต่ำๆ แล้วก็โยกย้ายไต่เต้า ให้ไปคุมแผนกนั้นแผนกนี้ เรียนรู้งานของบริษัทจนช่ำชองค่อยหยิบขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดหรือ ซีอีโอ ในภายหลัง

ท่านฮุน เซน ก็เช่นกัน ส่งลูกชายไปเรียนที่ โรงเรียนนายร้อย เวสต์พอยต์ นิวยอร์ก ซึ่งเป็นโรงเรียน หรือวิทยาลัยการทหารชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ต่อมาได้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งก็เป็น 1 ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ

เท่านั้นยังไม่พอ…ยังข้ามมหาสมุทรมาเรียนที่อังกฤษที่มหาวิทยาลัย บริสตอล จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์อีก 1 ปริญญา

กลับบ้านปุ๊บท่านฮุน เซน ก็ให้เข้ารับราชการในกองทัพบก ไต่เต้าจากนายทหารชั้นผู้น้อยจนขึ้นมาเป็นถึงผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี

อีกประเทศหนึ่งของอาเซียนก็คือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว แต่ก็เหมือนเผด็จการกลายๆ เพราะพรรคกิจประชาชน (PAP/ ผูกขาด สส.เอาไว้ตลอด) จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ลี กวนยู และลูกชาย ลี เซียนลุง

แต่ประเทศนี้ก็วางระบบการสร้าง ซีอีโอ ประเทศไว้อย่าง ยอดเยี่ยมด้วยการไปเสาะหาคนที่เหมาะสม ประเภทเด็กเรียนดี นิสัยดีกลุ่มหนึ่งมาฟูมฟักส่งไปเรียนนอกตั้งแต่เด็กๆ เช่นกัน

1 ในจำนวนเด็กดาวรุ่งที่ว่านี้ก็มีคุณ ลอว์เรนซ์ หว่อง จากครอบครัวชั้นกลาง อาศัยอยู่แฟลตประชาสงเคราะห์ รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง…ได้ไปเรียนทั้งที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน จบตรี จบโท ด้านเศรษฐศาสตร์ แล้วไปตบท้ายด้วยปริญญาโทจาก Kennedy School of Government ที่ฮาวาร์ด อีก 1 ปริญญา

กลับบ้านทำงานใช้ทุนโดยเข้ารับราชการก่อน ก่อนจะออกมาทำงานการเมืองเต็มตัวได้เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งกระทรวงการคลังและรองนายกฯ จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2567 ก็ขึ้นสืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แทนลี เซียนลุง

ของไทยเราเมื่อ 14 สิงหาคม 2567 นี่เอง เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นตำแหน่งจากการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ

ทำให้ประเทศไทยเราต้องได้ “ลูกสาวเถ้าแก่” ที่ยังไม่พร้อม เพราะเพิ่งจะฝึกงานได้หน่อยเดียว ไม่ช่ำชองเหมือนฮุน มาเนต หรือลอว์เรนซ์ หว่อง เด็กสร้างของ 2 ประเทศอาเซียนดังกล่าว

ผมเรียนแล้วว่า ผมเคารพในกฎกติกา รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรก็ต้องทำตามนั้น ได้นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่ยังไม่จบคอร์สฝึกงานมาดำรงตำแหน่ง ก็ต้องทำใจยอมรับ

คงต้องอาศัยวิชา “มูเตลู” ที่ประเทศอื่นไม่ค่อยมี แต่มีเยอะในบ้านเรา ให้เข้ามาช่วยแหละครับ…คือกราบไหว้วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองประเทศไทยของเราให้ผ่านพ้นสารพันปัญหาอันรุมเร้า ณ บัดนี้ ไปด้วยดีด้วยเทอญ…ทำอะไรมากกว่านี้คงไม่ได้แล้วมั้งครับ?

“ซูม”

ทฤษฎี “ลูกเถ้าแก่” กรณีศึกษา “ในอาเซียน”, พล.อ.ฮุน มาเนต, นายกรัฐมนตรี, กัมพูชา, สิงคโปร์, มูเตลู, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ข่าว, ข่าวการเมือง, ซุมซอกแซก