ผมกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รู้จักกันมานานมาก ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่นายกฯอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรกประมาณ พ.ศ.2535 ซึ่งทางทำเนียบรัฐบาลได้โอนตัวท่านมาจากจุฬาลงกรณ์ให้มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการก่อน
ช่วงนั้นคุณ สถาพร กวิตานนท์ ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของคุณอานันท์ มีดำริจะจัดทำหนังสือผลงานของรัฐบาลอานันท์ขึ้นเล่มหนึ่ง แต่ไม่อยากให้หยิบมาเขียนโดยตรงแบบหนังสือผลงานรัฐบาลทั่วไป จึงขอให้ผมไปสัมภาษณ์ท่านนายกฯ อานันท์ เพื่อจัดทำหนังสือเล่มที่ว่าโดยนำเสนอในลักษณะให้ท่านนายกฯ อานันท์เป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด
เวลาผมเข้าไปสัมภาษณ์ในทำเนียบก็จะพบเจอ ดร.วิษณุ เครืองาม บ่อยๆ ครั้ง จนในที่สุดก็รู้จักมักจี่และสนิทสนมกันมาจนถึงวันนี้
ต่อมาโดยตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการพัฒนาชนบท ทำให้ผมมีโอกาสเข้าไปทำงานให้นายกรัฐมนตรีหลายๆ ท่าน ที่มาดำรงตำแหน่งหลังนายกฯ อานันท์ เช่น นายกฯ ชวน หลีกภัย นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา และ นายกฯ จิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ช่วงนั้น ดร.วิษณุได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว และทำงานให้แก่นายกรัฐมนตรีในฐานะข้าราชการประจำอย่างเอาใจใส่และขยันขันแข็ง และก็ทำแบบไม่มีวันหยุดด้วยซ้ำ ผมเคยไปเจอท่านที่บ้านนายกฯ บรรหารซึ่งมักจะเรียกข้าราชการไปชี้แจงข้อราชการในวันหยุดอยู่บ่อยๆ
เมื่อผมลาออกจากราชการมาทำงานไทยรัฐเต็มตัว ผมเคยเขียนถึง ดร.วิษณุว่าท่านเหมือน “หมอนวด” ของโรงนวด “ชวาลา” ซึ่งเป็นหมอนวดมืออาชีพให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเสมอหน้ากันและทัดเทียมกัน
ใครมาเป็นลูกค้าในนาทีนั้นไม่ว่าจะเป็นอาเสี่ย หรือนักข่าวจนๆ อย่างพวกเราที่ยุคนั้นมักมีอาการปวดเมื่อยบ่อยๆ ต้องแวะไปใช้บริการที่ ชวาลา เสมอๆ หมอนวดก็จะนวดให้เราอย่างเต็มใจไม่เกี่ยงงอน แม้ว่าค่าทิปของพวกเราจะน้อยกว่าอาเสี่ยหลายเท่าก็ตาม
ถือว่าเป็น “มืออาชีพ” เมื่อให้บริการใครก็จะให้บริการอย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับ ดร.วิษณุที่ทำหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้แก่ทุกรัฐบาลอย่างเสมอหน้ากัน จะมาจากพรรคไหนท่านก็ทำเต็มที่
ท่านเคยถามผมว่าเปรียบท่านกับหมอนวดชวาลาเนี่ย ด่าหรือชมก็ไม่รู้แฮะ ซึ่งผมตอบท่านไปว่า “ชม” ครับ คือชมในสไตล์ “ซูม” ไม่ชมกันตรงๆ ว่างั้นเถอะ
ท่านรองวิษณุท่านชอบเขียนหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ จึงนำเรื่องราวของการทำงานกับรัฐบาลต่างๆ เท่าที่เปิดเผยได้มาเขียนหนังสืออยู่เสมอ
โดยเฉพาะชุดลง “เรือแป๊ะ” ในยุคที่อยู่กับนายกฯ ประยุทธ์หรือบิ๊กตู่มาถึง 8-9 ปี เล่มล่าสุดคือหนังสือเรื่อง “เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก” อันหมายถึงทำเนียบรัฐบาลนั่นเอง…ท่านบอกว่าของอังกฤษเขาใช้ “เลขที่ 10 ถนนดาวนิง ลอนดอน” ของเราจึงควรจะเป็น “เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก”
ท่านอารัมภบทในคำนำของหนังสือตอนหนึ่งว่า
“รัฐบาลที่เข้ามาจะเป็นเรือแป๊ะ เรือเหล็กหรือเรือดำน้ำต่างก็เกิดขึ้นที่นี่ เรื่องราวของบ้านเลขที่ 1 ถนนพิษณุโลกจึงควรแก่การบันทึกไว้ให้ปรากฏแม้หนังสือเล่มนี้จะจำกัดอยู่ที่สมัยพลเอกประยุทธ์ 2 เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม”
จากอารัมภบทผมตีความว่าท่านรักบ้านหลังนี้อย่างผูกพัน เพราะจำได้ในหนังสือหลายๆ เล่มที่ท่านเขียน ท่านจะจัดจำหน่ายผ่านสวัสดิการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และจะมอบผลกำไรจากหนังสือของท่านให้แก่สโมสรหรือสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ทำเนียบอยู่ตลอด
สำหรับการกลับเข้าสู่การทำงานการเมืองอีกครั้ง…คราวนี้ก็อาจจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อหรือนักการเมืองต่างๆ สุดแต่จะมองกันไป
ผมถือว่าผมเป็นเพื่อนรุ่นพี่ของท่านจากธรรมศาสตร์และเคยเห็นท่านทำงานที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมายาวนานมาก ขอตีความว่าท่านคงกลับมาเพราะความรัก ความผูกพันกับสำนักงานนี้มากกว่า
ตำแหน่งที่ท่านจะได้รับไม่ใช่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนะครับ แต่เป็นที่ปรึกษาของ “สลค.” หรือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ บ้านเลขที่ 1 ถนนพิษณุโลกต่างหากล่ะ
ผมว่าท่านคงอยากกลับไปอยู่ใกล้ๆ ลูกน้องเก่ามากกว่าครับ.
“ซูม”