เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤติประชากร” ซึ่งมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา และธนาคารโลก ฯลฯ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ว่านี้ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะจัดทำ “สมุดปกขาว” สรุปวาระสำคัญของปัญหาและวิธีการแก้ไข เพื่อให้ประเทศไทยของเรา “พ้นวิกฤติ” จากปัญหาประชากรลดลง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเข้าสู่ขั้นวิกฤติอยู่ในขณะนี้
ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านแล้วว่า ผมเองก็มีส่วนในการทำให้ประเทศไทยของเราเกิดปัญหาในเรื่องนี้ เพราะเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ในยุคที่อัตราเกิดกำลังพุ่งกระฉูด และเป็นห่วงกันว่า ประชากรจะล้นประเทศไทยนั้น
รัฐบาลไทยใน พ.ศ.โน้นได้ประกาศ “นโยบายประชากร” และนำลงบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2515-2519 ให้ประชาชนชาวไทยวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์ในทุกรูปแบบ ทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการลงมือปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนขององค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมต่างๆ
ผมเองซึ่งเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลใน พ.ศ.โน้นเต็มที่ จึงร่วมรณรงค์กับเขาด้วย เขียนผ่านคอลัมน์นี้ ปีละหลาย 10 ครั้ง
ถือว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยละครับในการสร้างปัญหาใหม่ให้แก่ประเทศเราในช่วงเวลาต่อมา…นั่นก็คือ การลดลงของอัตราเกิดมาเรื่อยๆจนหลังสุดกลายเป็น ว่า “เกิด” น้อยกว่า “ตาย” ทำให้ประชากรไทยติดลบอย่างที่วิตกกันอยู่ในปัจจุบัน
แม้ผมจะไม่ถือว่าตัวเองมีความผิด หรือไปโทษว่า นโยบายดั้งเดิมผิดพลาด เพราะยุคนั้นไม่ว่าใครๆ ก็เชื่อกันอย่างสนิทใจว่า ประชากรจะล้นโลกจะล้นประเทศไทย
แต่เมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยนไปและผมก็ยังมีชีวิตอยู่จนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอันน่าสะพรึงกลัวในยุคนี้ จึงขออนุญาตเป็น “เสือสำนึกบาป” ร่วมรณรงค์ตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลปัจจุบันที่อยากจะเห็นคนไทยกลับมาผลิตลูกมากๆอีกครั้งหนึ่ง
หลายเดือนก่อนพอทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยคุณหมอ ชลน่าน ศรีแก้ว ท่านห่วงเรื่องนี้ และออกมาแถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำเป็น วาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว ผมก็หยิบมาเขียนให้ทันที
ดังนั้น เมื่อทราบอีกว่าทางกระทรวง พม. โดยท่านรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา ขันอาสาเป็นโต้โผจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประชากรลด ผมจึงติดตามเอาใจช่วยและพยายามหาข่าวผลการประชุมมาอ่านอย่างละเอียด
เห็นด้วยทุกประการครับที่ท่านวราวุธไปแถลงนโยบายเปิดประชุมและบรรยายถึงสถานการณ์จนหนังสือพิมพ์นำมาพาดหัวว่า “วราวุธขึ้นเวทีเตือนภัย…ชี้สังคมตายายอยู่เดี่ยว…ชู 5 แนวทางดันไทยรอด”
ของผมเป็น “สังคมปู่ย่า” ซึ่งก็อยู่อย่างโดดเดี่ยวเช่นกัน ระหว่างปู่กับย่าเข้าใจในทุกถ้อยคำที่ท่านรัฐมนตรีวราวุธกล่าวไว้
สำหรับ 5 แนวทาง หรือ 5 นโยบายที่ท่านรัฐมนตรีอยากเห็นก็คือ 1.เสริมพลังวัยทำงานให้ตั้งตัว และดูแลครอบครัวได้ 2.เพิ่มคุณภาพและชีวิตของเด็กและเยาวชน 3.สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา 4.เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าคนพิการ และ 5.สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาอย่างมั่นคงของครอบครัว
ผมก็หวังว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะได้แผนงานและโครงการในรายละเอียด เพื่อให้กรอบนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีวราวุธท่านเสนอไว้บังเกิดผลในทางปฏิบัติในอนาคต
แต่เนื่องจากหน้าที่ของกระทรวง พม. เน้นไปในทาง “พัฒนา” หรือ “ดูแล” มนุษย์ที่เกิดมาเรียบร้อยแล้ว ไม่เกี่ยวกับว่า จะทำให้เกิดมากหรือเกิดน้อยโดยตรง
ผมจึงไม่แน่ใจว่า กรอบนโยบายทั้ง 5 ข้อ และแผนการที่จะเป็นสมุดปกขาวเสนอต่อรัฐบาลนี้ จะมีอะไรจูงใจ “คนรุ่นใหม่” ให้อยากแต่งงาน อยากมีลูกมีหลาน เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นบ้างหรือไม่?
กระทรวงอื่นๆคงต้องช่วยคิดด้วยนะครับ…วิกฤติประชากรและครอบครัวครั้งนี้ เป็นวิกฤติแห่งชาติอย่างแท้จริง จะต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำทุกกระทรวงและทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนทั่วประเทศไทยครับ ถึงจะฝ่าไปได้!
“ซูม”