“นโยบายการเงิน” ข้อเท็จจริงที่ “ควรรู้”

ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้อ่านข้อความในเฟซบุ๊กของอดีตท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ในหัวข้อที่ว่า “นโยบายการเงินไม่ใช่ยาเฉพาะทาง” เมื่อวานนี้เอง

อ่านจบแล้วก็ต้องขอชมเชยว่า เป็นข้อเขียนทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่ผมมีโอกาสได้อ่านอยู่หลายๆ สิบชิ้นในช่วงเวลานี้

ให้ข้อคิดให้หลักการให้ความรู้ทางด้านการเงินด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย สุภาพ มิได้ต่อล้อต่อเถียงกับใคร…หวังว่าผู้ที่กำลังเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ “นโยบายการเงิน” โดยเฉพาะการ “ลดดอกเบี้ย” อย่างเร่งด่วน ควรจะได้อ่านกันไว้บ้าง

ดร.วิรไท เริ่มต้นด้วยการเท้าความถึงคำจำกัดความของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค 3 ด้าน อันได้แก่ นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และ นโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ว่า แต่ละด้านมีวัตถุประสงค์ มีวิธีทำงาน มีข้อจำกัด และมีผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน

ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจึงต้องประสานนโยบายทั้ง 3 ด้าน เข้าด้วยกัน จัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมกับปัญหาและบริบทในแต่ละช่วงเวลา เศรษฐกิจจึงจะก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ไม่สร้างผลข้างเคียงให้ต้องตามแก้ไขในภายหลัง

ท่านกล่าวถึงคำจำกัดความตลอดจนหน้าที่และวัตถุประสงค์หลักของนโยบายการเงินเอาไว้หลายๆ ข้อ…น่าเสียดายที่เนื้อที่คอลัมน์ของผมมีจำกัด ไม่สามารถจะคัดลอกมาลงได้

แต่ขออนุญาตคัดลอกมาสักประโยคยาวๆ ก็แล้วกัน…“นโยบายการเงินมีข้อจำกัดหลายด้าน เพราะต้องทำงานผ่านกลไกตลาดในระบบการเงิน…โดยปกติการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใช้เวลานาน (12-18 เดือน) กว่าที่จะเกิดผลกับเศรษฐกิจ”

“ในบางช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือลงต่อเนื่องหลายครั้ง แต่ก็จะสร้างผลข้างเคียงที่ต้องตามจัดการภายหลัง ซึ่งรวมถึงการต้องกลับมาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อีก 2-3 ประโยค ท่านเขียนไว้ว่า “สำหรับธนาคารกลางของประเทศเล็กๆ ที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดด้วยแล้ว ต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ ถ้าดอกเบี้ยนโยบายต่างจากอัตราดอกเบี้ยโลกไปมาก”

“สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคคุ้นเคย แต่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชินคือนโยบายการเงินเป็น blunt policy หรือเป็นนโยบายที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้”

“นโยบายการเงินเป็นเหมือนนํ้าเกลือที่ฉีดเข้าเส้นเลือดหลักเพื่อรักษาอาการขาดนํ้า หรือแร่ธาตุจำเป็นของร่างกายโดยรวม แม้ว่าจะช่วยให้คนไข้ดูสดชื่นขึ้นบ้าง แต่นํ้าเกลือไม่สามารถแก้ไขอาการป่วยที่ต้องการยาเฉพาะทางได้”

บอกแล้วว่าเนื้อที่ผมมีจำกัดไม่สามารถจะคัดลอกมาลงทั้งหมดได้ ก็ขอได้โปรดไปหาข้อความที่เหลืออ่านเอาเอง เข้ากูเกิลไปที่ชื่อ วิรไท สันติประภพ ก็จะมีข่าวที่เกี่ยวข้องมาให้เราเลือกอ่านครบถ้วน

แน่นอนท่านเสนอแนะด้วยว่า ขณะนี้อะไรทำให้เส้นเลือดบางเส้นตีบ และควรจะแก้อย่างไร ส่วนการฉีดนํ้าเกลือด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายดูเหมือนท่านจะติงให้ระมัดระวังให้มากๆ

ผมชอบใจที่ท่านเปรียบเทียบอาการป่วยทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เหมือนอาการป่วยของมนุษย์ และในการวิเคราะห์อาการโรคนั้น “คุณหมอ” หรือ “นายแพทย์” ควรจะวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างไรบ้าง

ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนเก่าๆ ของผมเมื่อหลายปีก่อน เปรียบเทียบนักเศรษฐศาสตร์ว่าเป็น “หมอ” หรือ “นายแพทย์” ตัวจริง ในขณะที่นักการเมืองซึ่งแม้จะมีความรู้ทางเศรษฐกิจอยู่ เพราะก็เคยเรียนมา แต่ความเป็นนักการเมืองทำให้แปรสภาพไปเป็น “หมอตี๋” กันเสียมาก

การรักษาโรคแบบ “นายแพทย์” ตัวจริง คืออย่างไร? การรักษาโรคแบบ “หมอตี๋” ซึ่งยุคหนึ่งมีมากเหลือเกินในประเทศไทย…ผมจะหาโอกาสนำกลับมาเขียนถึงอีกสักครั้งก็แล้วกันครับ.

“ซูม”

นโยบายการเงิน, ข้อเท็จจริงที่ , ควรรู้, การบริหาร, ประเทศ, การเมือง, ลดดอกเบี้ย, เศรษฐกิจ, วิรไท สันติประภพ, หมอ,  รักษา, ข่าว,​ ซูมซอกแซก