จีนเจอปัญหา “เงินฝืด” ห่วง “ผลกระทบ” ถึงไทย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” ของ คุณ “นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย” ในหน้า 2 ไทยรัฐ แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า ผมเองก็เคยจะเขียนเตือนนักธุรกิจไทยหรือหน่วยราชการไทย ที่ทำหน้าที่ติดต่อค้าขายกับจีนอยู่เหมือนกัน

เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” ออกอาการน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยในขณะนี้

คุณนิติการุณย์เขียนเล่าว่า แม้จีนจะทยอยเปิดประเทศโดยให้คนจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ แบบ “กรุ๊ปทัวร์” ได้ มาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2022 โดยประเทศปลายทางที่จีนอนุมัติชุดแรกมีทั้งสิ้น 20 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยของเรา

ต่อมาก็ประกาศรายชื่อกลุ่มที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้อีก 40 ประเทศ และล่าสุดก็ประกาศกลุ่มที่ 3 ซึ่งจะรวมถึงประเทศที่รวมตัวต่อต้านจีน หรือมีนโยบายต่อต้านจีน เช่น สหรัฐฯ, อังกฤษ, เยอรมนี, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ฯลฯ อยู่ด้วย

ส่งผลให้หุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศที่ว่านี้ราคาพุ่งขึ้นไปตามๆกัน เพราะคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนไปเที่ยวที่ประเทศของเขาเหมือนในยุคก่อนโควิด-19 จึงเตรียมตัวต้อนรับกันใหญ่

ซึ่งคุณ “นิติการุณย์” ก็ทิ้งท้ายฝากข้อสังเกตว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่สามารถออกไปเที่ยวได้ อาจมีจำนวนไม่มากเหมือนในอดีต เพราะเศรษฐกิจจีนช่วงนี้กำลังอยู่ในภาวะ “เงินฝืด”

รายได้ของคนจีนชะลอตัวลง คนตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เห็นได้ชัดเจนมาก บ้านและคอนโดที่สร้างไม่เสร็จ เพราะไม่มีคนซื้อคนจองโผล่ผุดให้เห็นมากมายในเมืองใหญ่ๆ

แล้วคนจีนจะมีเงินเยอะพอที่จะออกไปเที่ยวอย่างเมื่อก่อนได้อย่างไร…อย่างเก่งก็จะไปได้แค่คนชั้นกลางเท่านั้น

ผมขอต่อยอดข้อเขียน คุณนิติการุณย์ตรงนี้เลยครับ

ดูเหมือนผมจะเขียนเตือนไว้หลายครั้งแล้วเช่นกันว่า รัฐบาลจีนเองก็รู้สึกห่วงใยในประเด็นเศรษฐกิจของเขาเช่นกัน และหาทางที่จะเร่งกระตุ้นกันอยู่ โดยออกนโยบายใหม่ๆ หลายด้าน

รายงานบางกระแสบอกว่า GDP ของจีนสำหรับไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 4 เท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าปีนี้จะให้ขยายถึง 5.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องยากแน่นอน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่า จีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเสียด้วยซํ้า หลังจากดัชนีผู้บริโภคซึ่งเป็นเครื่องมือในการวัดเงินเฟ้อออกมาที่-0.3 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น+เหมือนในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู

ที่สำคัญตัวเลขการส่งออกล่าสุดก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ในขณะที่อัตราการว่างงานในเมืองใหญ่กว่า 30 เมือง ก็สูงมากขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับสูงด้วย

ข้อมูลเศรษฐกิจเหล่านี้สร้างความกังวลใจแก่ตลาดซื้อขายน้ำมันระดับโลก เพราะจีนเป็นประเทศบริโภคน้ำมันสูงสุด หากเศรษฐกิจถดถอยการใช้น้ำมันก็จะลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงไปอยู่ช่วงหนึ่ง

แต่ในที่สุดกลุ่มโอเปกและพันธมิตรก็หันมาใช้นโยบายลดการผลิตต่อไปอีกจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ และอาจจะต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ราคาน้ำมันโลกกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนต่อไปอีก เพราะนอกจากจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วยังต้องเจอภาวะน้ำมันราคาแพง

ด้วยข้อมูลที่ผมอ่านพบซึ่งก็คงจะยังไม่ครบถ้วนแน่นอน อาจมีอะไรที่ยังหลงหูหลงตาอีกมาก ก็ยังรู้สึกเป็นห่วงเศรษฐกิจจีนและรัฐบาลจีนอยู่ไม่น้อย ว่าจะหาทางฟื้นฟูกลับมาได้อย่างไร?

เพราะถ้าเศรษฐกิจจีนฝืด คนจีนโดยเฉลี่ยจนลง เขาก็จะออกไปเที่ยวน้อยลงและซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง

เรื่อง “ท่องเที่ยว” ย่อมส่งผลกระทบถึงหลายประเทศ รวมทั้งบ้านเราด้วยอย่างแน่นอน

ผมเชื่อว่า ททท.ย่อมรู้อยู่แล้ว และคงเตรียมแผนที่จะรับมือสถานการณ์เช่นนี้อยู่บ้างแล้ว

หวังว่ารัฐบาลใหม่และ รมว.ท่องเที่ยวท่านใหม่ก็คงจะรู้ข้อมูลนี้เช่นกัน และเตรียมตัวหาทางรับมือเช่นกัน

ฝากให้เลือกตัว รมว.ท่องเที่ยวฯใหม่ที่รู้เรื่องท่องเที่ยวเป็นอย่างดีด้วยนะครับ…อย่าส่ง Mr.Pig หรือ Mr.Cat (นายหมู นายแมว) อะไรที่ไหนมานั่งกระทรวงนี้ก็แล้วกัน.

“ซูม”