ความหวัง “วันวาเลนไทน์” แก้ปัญหา “สังคมสูงอายุ”?

เมื่อฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเขียนในสไตล์ “เสาร์สารพัน” ชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวโน่นดูนี่ในงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงเวลานี้ ตามแนวทางของคอลัมน์ที่กำหนดไว้สำหรับวันเสาร์

แน่นอนครับ กิจกรรมแรกเลยที่ต้องเขียนถึงในต้นเดือนกุมภาพันธ์เช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นกิจกรรมเกี่ยวกับ “วาเลนไทน์” หรือ “วันแห่งความรัก” ตามวัฒนธรรมของฝรั่งที่จะมาถึงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

โดยเฉพาะกิจกรรม “จดทะเบียนสมรส” ตามเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคนส่งข่าวมาถึงผมผ่านไลน์บ้าง เฟซบุ๊กบ้าง ว่าจะมี 4-5 แห่ง ได้แก่ บางรัก, บางขุนเทียน, บางแค, สาทร เป็นต้น

แต่ละแห่งล้วนจัดกิจกรรมใหญ่โตมีการแจกของรางวัลแจกของที่ระลึก และตั้งชื่องานอย่างไพเราะเพราะพริ้งให้แก่เขตของตนเอง มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ควบคู่กันไปดังที่ได้นำมาเขียนไว้เมื่อเสาร์ที่แล้ว

ผมก็นึกว่ามีเพียงแค่นั้นที่ไหนได้อีก 2 วัน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างก็พร้อมใจกันลงข่าวว่าจาก 50 เขตของ กทม.เรานั้น มีการจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสเป็นกรณีพิเศษ ทั้งแจกของที่ระลึก ทั้งตั้งชื่องานอย่างไพเราะเพราะพริ้งถึง 30 กว่าเขตด้วยกัน

รวมทั้ง เขตบางพลัด ที่ในอดีตหลายปีมาแล้ว ท่านผู้อำนวยการเขตเคยคิดจะเปลี่ยนชื่อ เพราะไม่มีใครมาจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์เลย เพราะเกรงว่าจดแล้วจะต้องพลัดพรากจากกัน หรืออยู่ไม่ยืดยาว เพราะชื่อเขตไม่ค่อยเป็นมงคลเท่าไรนัก

แต่ชาวบ้านไม่รับข้อเสนอของท่าน บอกว่าชื่อบางพลัดเป็นชื่อใน ประวัติศาสตร์ มีมาตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์ จะมาเปลี่ยนได้อย่างไร ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่จนท่านผู้อำนวยการเขตต้องยอมถอนเรื่อง

วาเลนไทน์ปีนี้ เขตบางพลัด ก็จัดงานจดทะเบียนสมรสด้วยเหมือนกัน โดยไม่วิตกว่าผู้คนจะเกรงกลัวชื่อเขต…แถมมีของที่ระลึกพิเศษไว้ให้ลุ้น พร้อมตั้งชื่อกิจกรรมว่า “บางพลัด พัดเรามาคู่กัน นิรันดร”

ใครจะไปจดทะเบียนสมรสวันวาเลนไทน์ปีนี้ที่บางพลัดก็เชิญนะครับ

ผมไม่ทราบว่าเป็นนโยบายของท่านผู้ว่าฯ ท่านปัจจุบันหรือไม่? หรือเผอิญว่าหลายๆ เขตต่างก็มีใจตรงกัน จึงหันมาจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ 2566 อย่างเอิกเกริกดังที่เป็นข่าว

แต่ไม่ว่าจะเป็นความคิดของใคร? หรือเป็นความคิดของเขตต่างๆ ที่เกิดมาตรงกันโดยบังเอิญ ผมก็เห็นว่า ควรจะสนับสนุน และให้กำลังใจ รวมทั้งขอบคุณทุกๆ เขตที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

เพราะการจดทะเบียนสมรสถือเป็นส่วนหนึ่งของ “การแต่งงาน” หรือการมาอยู่กินใช้ชีวิตร่วมกันของชายหญิง สร้างครอบครัวใหม่มีลูก มีหลานไว้สืบสกุลต่อไปในอนาคต

เราก็หวังเอาไว้ว่าเมื่อคนแต่งงานมากขึ้น มีครอบครัวใหม่เพิ่มขึ้น คงจะช่วยให้ประเทศไทยของเรามีเด็กเกิดใหม่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปัญหาคนเกิดน้อยกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ ประเทศทั่วโลกทุกวันนี้ และหลายๆ ประเทศที่ว่าถึงขั้นต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่จากที่เคยลดอัตราเกิดของประชากรมาเป็นเพิ่มอัตราการเกิดกันยกใหญ่

ประเทศไทยเราก็เริ่มหันมารณรงค์ให้คนไทยเราเริ่มมีลูกเพิ่มขึ้นกันแล้ว และเท่าที่จำได้กระทรวงสาธารณสุขก็ดูเหมือนจะมีโครงการชักชวนคนไทยให้แต่งงานมากขึ้นและมีลูกเพิ่มขึ้นอยู่ 2-3 โครงการ

ผมก็หวังว่าการจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสของเขตต่างๆ และการจัดที่โน่นที่นี่ทั่วประเทศไทยด้วยในวันวาเลนไทน์ จะเป็นการช่วยเสริมให้นโยบายเพิ่มอัตราเกิดของประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย

ขอฝากข้อคิดไว้เพียงเล็กๆน้อยๆ ว่าเมื่อจดทะเบียนแล้วก็อย่าลืมปฏิบัติภารกิจให้ครบถ้วนขบวนความด้วยนะครับ

อย่าลืมว่าการจดทะเบียนสมรส จะมีผลแค่ทางจิตใจและทางกฎหมายว่าเราทั้ง 2 จะมาเป็นบุคคลคนเดียวกันเท่านั้น

ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรแต่อย่างใด นอกเสียจากเมื่อจดทะเบียนสมรสเสร็จสรรพแล้วคู่สมรสนั้นจะต้องปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของการมีชีวิตคู่ควบคู่ไปด้วย

ปฏิบัติด้วยความตั้งใจและเปี่ยมไปด้วยความรักระหว่างกันและกันจึงจะเป็นผลให้มีเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้น และโดยทฤษฎีเด็กที่เกิดจากความรักที่แท้จริงของพ่อแม่ก็มักจะเป็น “เด็กดี” เมื่อเติบใหญ่ขึ้นในอนาคต

ขอบคุณทุกๆเขต ทุกๆอำเภอ ทุกๆจังหวัด ที่จัดงานจดทะเบียน สมรสทั่วประเทศไทยในวันพรุ่งนี้อีกครั้งนะครับ (และอย่าลืมปฏิบัติภารกิจสำคัญเพื่อชาติด้วยนะครับ ผู้จดทะเบียนทั้งหลาย)

“ซูม”

ความหวัง “วันวาเลนไทน์” แก้ปัญหา “สังคมสูงอายุ”?, วาเลนไทน์, วันแห่งความรัก, แต่งงาน, จดทะบียนสมรส, การแต่งงาน, ปัญหาคนเกิดน้อย, ซูมซอกแซก