ข่าวที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้ ผมสรุปย่อมาจากถ้อยแถลงของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี่แหละครับ
เนื้อหาของข่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนฯ (ศจพ.) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยนั้น
ศูนย์ฯ ได้วิเคราะห์ปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขครัวเรือนผ่านข้อมูลในระบบพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ครอบคลุมประชาชน 652,564 ครัวเรือน พบว่ามีประชาชนตกเกณฑ์ในมิติต่างๆรวม 5 มิติ ในจำนวนพอสมควร
ศูนย์ฯ จึงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกันแบบบูรณาการลงไปแก้ปัญหา จนประชาชนผ่านเกณฑ์ในมิติทั้ง 5 ประการ ได้แล้วถึง 581,549 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.12
ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 กว่าๆ นั้น ทางศูนย์ฯจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขต่อไป โดยมอบหมายให้นายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ และจะดำเนินให้ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในปีงบประมาณนี้ (2565)
“สำหรับครัวเรือนหรือพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้ถูกสำรวจ หรือตกหล่น ยังไม่มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง” พล.อนุพงษ์กล่าวในที่สุด
ที่ผมอ่านข่าวนี้แล้วต้องเอ่ยคำว่า “ขอบคุณ” เป็นคำแรก ก็เพราะนึกไม่ถึงว่างานที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในอดีตได้ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือพี่น้องยากจนในชนบทนั้น จะได้รับการสืบสานเรื่อยมาจนถึงบัดนี้
ผู้ริเริ่มหมายเลข 1 ก็คืออดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่บอกกับผู้บริหาร สภาพัฒน์ ในยุคที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าสภาพัฒน์ควรวางแผนพัฒนาประเทศให้ครบทุกด้าน
ท่านมอบหมายให้สภาพัฒน์จัดทำแผน พัฒนาชนบทยากจน ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และที่สำคัญที่สุดคือ แผนและ “โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก” หรือ อีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่ทำให้ประเทศไทยโชติช่วงชัชวาลขึ้นทันทีใน พ.ศ.ดังกล่าว
จากการร่วมมืออย่างจริงจัง และจากการใช้นโยบาย “เดินหน้า” แต่ “ไม่ลืมหลัง” ของป๋าเปรมนี่เอง หากเราย้อนกลับไปดูความสำเร็จของการพัฒนาในยุคนั้น จะพบว่าประเทศไทยของเราก้าวไปข้างหน้าอย่างพร้อมกันในทุกๆ ภาค ไม่ใช่เพราะแค่ กทม.หรือจังหวัดใหญ่ๆเท่านั้น
ในภาคชนบทเรามีถนนหนทางมีไฟฟ้ามีประปาถึงหมู่บ้านกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เรายกระดับโรงเรียนมัธยมระดับอำเภอขึ้นครบทุกอำเภอ และในระบบสาธารณสุขเราก็สร้างโรงพยาบาลระดับอำเภอได้ครบทุกอำเภอเช่นกัน ฯลฯ
แต่ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่างานพัฒนาชนบทไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เพราะปัญหาความยากจนของชนบทนั้นทั้งซับซ้อนและลุ่มลึก จะต้องพัฒนาอีกยาวนานมาก และอาจต้องใช้เวลาชั่วอายุขัยเสียด้วยซ้ำ
จึงต้องขอขอบคุณที่กระทรวงมหาดไทย 1 ใน 4 กระทรวงหลักยุคริเริ่มการพัฒนาชนบทที่ยังคงเดินหน้าต่อมาจนถึงวันนี้
มีการจัดเก็บและพัฒนาข้อมูลที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ยุคโน้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับหมู่บ้านและครัวเรือนที่เรียกว่า จปฐ. มาโดยตลอด
จนกลายมาเป็นข้อมูลที่บิ๊กป๊อกเรียกว่า TPMAP สามารถ “ชี้เป้า” คนยากจนได้อย่างชนิดรู้ตัวตนว่าเขาคือใคร…ใครคือเขาอย่างที่มหาดไทยดำเนินการช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้
ในอดีตที่ผ่านมา 40 ปี 50 ปีก่อนโน้น เคยมีคำล้อเลียนเรื่อง “ลูกไม้มหาดไทย” ว่ากระทรวงมหาดไทย สามารถรู้ข้อมูลและตอบได้หมดในทุกเรื่องว่าจังหวัดหนึ่งมีช้างกี่เชือก, โค กระบือกี่ตัว ฯลฯ ถามอะไรตอบได้หมด แต่จะถูกต้องตามจริงหรือไม่ไว้ว่ากันทีหลัง
แต่แผนที่ “ชี้เป้า” หรือ TPMAP นั้น ข่าวว่ามีการเข้ามาช่วยกันทำหลายๆ หน่วย ไม่ใช่มหาดไทยฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อมูลที่แท้จริง ไม่ใช่ “ลูกไม้มหาดไทย” อย่างแน่นอน
มีคนการันตีกับผมว่าเชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ครับข้อมูลนี้.
“ซูม”