ฝาก “ปลัดมหาดไทย” ไว้ด้วย ช่วยดูแล “คนจน” 1 ล้านคน

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึง “โฆษณา” หรือ “แจ้งความ” 4 สีเต็มหน้า 12 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอังคารที่ 15 มีนาคม โดยหน่วยงานพิเศษหน่วยงานหนึ่งที่เรียกชื่อย่อๆ ว่า “ศจพ.”

ผมยอมรับว่าผมเพิ่งได้ยินชื่อหน่วยนี้เป็นครั้งแรก จึงต้องไปค้นกูเกิลว่า ศจพ. คือใคร? มีดีมาจากไหน? เหตุใดจึงหาญกล้ามาลงโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมกับใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างท้าทายว่า “ทุกความเดือดร้อนของประชาชนบอกเรา”

ในที่สุดผมก็พบว่า ศจพ.มีชื่อเต็มๆ ว่า ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และการพัฒนาชนบททุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง…ตั้งขึ้นโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้มีศูนย์พิเศษขึ้น ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการหรือฝ่ายประสานงานเพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับชาติชื่อเดียวกันนี้…ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ รมว.มหาดไทยเป็นรองประธาน

ศจพ. ตั้งอยู่ที่กรมพัฒนาชุมชน ในฐานะที่ท่านอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับชาติดังกล่าว

ที่ผมทึ่งมากอีกประการหนึ่งและได้เขียนไว้แล้วเมื่อวานนี้ก็คือ ที่ ศจพ. บอกว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าด้วย TPMAP

ผมก็ไปค้นต่อว่า TPMAP คืออะไร ในที่สุดก็ทราบจากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ว่าชื่อเต็มๆ ก็คือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่นำข้อมูลจากหลายๆ ระบบมาใช้จนสามารถระบุได้ว่าคนจนกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน?

หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่นำมาใช้ก็คือ ข้อมูล จปฐ. ของกรมพัฒนาชุมชนกับข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ และกระทรวงการคลัง ทำให้สามารถ “ชี้เป้า” หรือค้นพบตัวตนของ “คนจน” ได้ในที่สุดว่าปี 2565 นี้มีทั้งสิ้น 1,025,782 คน…จนอย่างไร? จนแบบไหน? อยู่ที่ไหน? ท่านบอกได้หมด?

ผมยอมรับว่าผมทึ่งมากและชื่นชมมากในประเด็นนี้ และขอหยิบยกมาเขียนต่อในวันนี้ก็เพื่อจะขอบคุณและชื่นชมที่ท่านสามารถค้นหาตัวคนจน “เจอ” นี่แหละ

เพราะในอดีตปัญหาที่หนักใจที่สุดของนักพัฒนาชนบทก็คือเราไม่รู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน?

เราเล่นแร่แปรตัวเลขจนรู้ว่าสัดส่วนคนจนในประเทศไทยมีเท่าไร? อยู่ใต้เส้นวัดความยากจนกี่เปอร์เซ็นต์และกี่คน ระบุได้ทั้งเปอร์เซ็นต์ทั้งจำนวนว่าเป็นเท่านั้นเท่านี้ล้าน

แต่ถามว่าอยู่ที่ไหน? และเขาคือใคร? คำตอบก็คือไม่รู้!

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนามันเกิดขึ้น เราก็ต้องจัดโครงการลงไป ระดมมาตรการโน่นนี่ลงไป…แบบ “ยิงกราด” โดนคนจนบ้าง ไม่โดนบ้าง ถือว่าดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

ผมจึงตื่นเต้นมากที่ทราบว่าบัดนี้เราสามารถชี้เป้าหาตัวคนจนเจอแล้วจำนวนหนึ่ง…อย่างน้อยก็ 1 ล้านกว่าคน ตามตัวเลขที่ TPMAP ค้นพบ และ ศจพ. จะนำมาใช้เป็นเป้าหมาย

ซึ่งจากการค้นข้อมูลต่อ ทำให้ผมทราบว่า TPMAP เป็นฝีมือของ NECTEC หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับ สภาพัฒน์ และหน่วยงานเจ้าของข้อมูลพื้นฐานอีกหลาย 10 หน่วย ที่เข้ามาบูรณาการ

ขอขอบคุณน้องๆจาก NECTEC และสภาพัฒน์ ด้วยที่ร่วมกันคบคิดและคิดค้นและบูรณาการจนทำให้เรารู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน?

แน่นอน…คนจนจริงๆ ในประเทศไทยคงมีมากกว่านี้ และคงต้องค้นหาต่อ…แต่สำหรับที่เราเจอแล้ว 1 ล้านเศษนี้ ผมก็ขอฝากกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าสังกัด ศจพ.ไว้ด้วย

ฝากท่านรัฐมนตรีมหาดไทยไว้ก่อนตามหลักการแต่คนที่จะต้องฝากไว้มากที่สุดคือ ท่าน ปลัดมหาดไทย ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ…เพราะรัฐมนตรีนั้นมาแล้วก็ไปถ้ามีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะไปเรียบร้อย แต่ท่านปลัดจะยังอยู่

ท่านปลัดในฐานะอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเก่าคุ้นกับข้อมูล “จปฐ.” อย่างดียิ่ง ย่อมเข้าใจในข้อมูล TPMAP มากที่สุด…และดูตามประวัติท่านปลัด จะเกษียณเดือนตุลาคม 2567 มีเวลาอีก 2 ปีจากนี้ไป

ฝากดูแลคนจนเป้าหมาย 1 ล้าน 2 หมื่น 5 พัน 7 ร้อย 82 คนที่เราค้นเจอทั้งหมดนี้ไว้ด้วยนะครับท่านปลัดครับ!

“ซูม”

ข่าว, คนจน, ข้อมูล, ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน, กระทรวงมหาดไทย, ซูมซอกแซก