ในที่สุดก็ทะลุ “13,000 สาขา” ร้าน “เซเว่น” กับชายชื่อ “ก่อศักดิ์”

ผมได้รับหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเล่มหนึ่งตั้งชื่อเรื่องไว้บนแผ่นปกว่า “กว่าจะถึง 13,000 สาขา…บันทึกวันเวลากว่า 30 ปีที่ยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทย”

พร้อมกับชื่อของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ซึ่งอยู่ด้านล่างของปก แต่ก็เห็นชัดเจนและโดดเด่น อ่านได้ใจความว่า “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์”

ก็ถึงบางอ้อร้องอ๋อเดาได้ถูกทันทีว่าต้องเป็นหนังสือเกี่ยวกับร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” หรือที่คนไทยมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ร้านเซเว่น” แน่นอน

เพราะความโด่งดังของคุณ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ในฐานะผู้ปลุกและปั้นร้านสะดวกซื้อยี่ห้อนี้ ซึ่งตอนก่อตั้งขึ้นในช่วงแรกๆทำท่าจะไปไม่รอดเสียด้วยซํ้า ให้กลับมาฟื้นคืนชีวิตและแพร่หลายไปทั่วประเทศนั้น…เป็น 1 ในตำนานของการพัฒนา “การค้าปลีก” ในประเทศไทย

ปรากฏว่าใช่จริงๆ ครับ หนังสือเล่มที่ว่านี้เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับความสำเร็จและการฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ก่อนจะมีวันนี้ของร้านเซเว่น…โดย เรียบเรียงจากการให้สัมภาษณ์ของคุณก่อศักดิ์ บวกกับข้อเขียนคมๆ สั้นๆ ที่เป็นปรัชญาและวิธีการทำงานที่คุณก่อศักดิ์ถ่ายทอดให้แก่พนักงานในเครือ ซีพีออลล์ หลายแสนคนทั่วประเทศ

ผมรีบเปิดอ่านทันทีตั้งแต่บทแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ที่เครือซีพีไปซื้อสิทธิ์ในการบริหารร้านสะดวกซื้อยี่ห้อนี้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 หรือเมื่อ 33 ปีก่อนโน้น

ต่อมาราวๆ เดือนมิถุนายน ปี 2532 จึงเปิดสาขาแรกที่ ถนนพัฒนพงษ์ ย่านสีลม และอีกประมาณ 19 เดือนก็เปิดอีก 26 สาขาใน กทม. รวมเป็น 27 สาขา และก็ปรากฏว่าขาดทุนยับเยินแผล็บเดียวยอดขาดทุนสะสมสูงถึง 50 ล้านบาท ทำท่าจะไปไม่รอด

เคราะห์ดีที่คณะผู้บริหารสูงสุดของเครือยังไม่ถอดใจ…ส่งผู้บริหารดาวรุ่งที่ชื่อ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ให้มากอบกู้สถานการณ์

อีก 2 ปีต่อมาคือใน พ.ศ.2534 ก่อศักดิ์กับคณะก็สามารถอุดช่องโหว่และเปิดช่องกำไรจนสามารถล้างการขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด พร้อมกับขยายสาขาออกไปอย่างรวดเร็ว

ปัญหาหลักของร้านเซเว่นในยุคเริ่มต้นก็คือ สินค้าหายจากร้านเยอะมาก, พนักงานลาออกบ่อยมาก และการสต๊อกสินค้าเอาไว้มากเกินจำเป็น

ผมชอบวิธีแก้ปัญหาพนักงานลาออกบ่อย–ที่คุณก่อศักดิ์ถึงขั้นไปทำสัญญากับกรมอาชีวศึกษา ให้นักเรียนอาชีวะมาทำงานขายสินค้ากับเซเว่น ได้ทั้งเงินได้ทั้งคะแนน เพราะถือเป็น 1 ในวิชาเรียน

ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะแก้ปัญหาให้เซเว่นได้ ยังช่วยให้พนักงานมีโอกาสได้เรียนสูงขึ้น ซึ่งต่อมาทางเซเว่นก็ไปพัฒนาด้านการศึกษาจนถึงขั้นจัดตั้ง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สอนถึงปริญญาเอกไว้รองรับพนักงานเซเว่น รวมถึงรองรับนักศึกษาทั่วไป ถือเป็นการช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศไปด้วยอีกทางหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ยังเล่าถึง วิกฤติใหญ่ของประเทศไทย…ที่ร้านเซเว่นในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง, วิกฤติการเมืองยุคเสื้อแดง เสื้อเหลือง มาจนถึงวิกฤติใหญ่มากอีกวิกฤติหนึ่ง “มหาอุทกภัย พ.ศ.2554”

ประธานก่อศักดิ์ได้เล่ารายละเอียดของการฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคในทั้ง 3 วิกฤตินี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ และหากนำไปขยายความอย่างละเอียดกว่านี้หรือใส่ตัวเลขข้อมูลลงไปอีกหน่อยก็สามารถจะนำมาเป็นตำราหรือคู่มือสำหรับการบริหารธุรกิจในยามวิกฤติได้เลยทีเดียว

วันที่ 7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบ 33 ปีเป๊ะ สำหรับการได้สิทธิของธุรกิจร้านสะดวกซื้อแบรนด์นี้มาบริหารจัดการในประเทศไทย

อาลาดิน ออนไลน์ ในเครือ สยามสปอร์ตฯ ผู้จัดทำหนังสือเนื่องใน โอกาสสำคัญนี้ตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่ 100 บาท วางจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไปและขาดไม่ได้ก็คือ ในร้านเซเว่นทั่วประเทศ

ผมถือว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ในข่ายของการสร้างแรงบันดาลใจ และการให้ความรู้ด้านบริหารธุรกิจอย่างง่ายๆ ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาและธรรมะ ท่านที่สนใจก็ลองซื้อหาอ่านกันตามสะดวก…สะดวกที่ไหนก็ซื้อที่นั่นว่างั้นเถอะ…รวมทั้งที่ร้าน “สะดวกซื้อ” เซเว่น ซึ่งจะมีจำหน่ายอย่างแน่นอนทั้ง 13,000 สาขาทั่วประเทศไทย.

“ซูม”

ข่าว, หนังสือ, เซเว่น อีเลฟเว่น, 711, ร้านสะดวกซื้อ, ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์, ซูมซอกแซก