ท่านผู้อ่านอาจจะแปลกใจเล็กน้อยที่วันนี้ผมจั่วหัวถึงชื่อองค์กรวิชาชีพสื่อที่ไม่คุ้นหูเท่าไรนัก…ก็อยากเฉลยเสียเลยว่า “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่ว่านี้ก็คือ “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เดิมที่ก่อกำเนิดมาตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2540 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน นั่นเอง
คงจะจำกันได้ว่า ในวันดังกล่าว เจ้าของ บรรณาธิการและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งหลายทั่วประเทศไทยได้มาร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม โดยไม่ต้องมีผู้แทนภาครัฐไม่ว่าจากหน่วยใดหน่วยหนึ่งเข้ามาร่วมแม้แต่หน่วยเดียว
ตลอดระยะเวลา 24 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ได้ดีตามสมควร
แต่เมื่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารเปลี่ยนแปลงไป ภูมิทัศน์สื่อมวลชนไทยและทั่วโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
สื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่เก่าแก่ที่สุด กลายเป็นสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสื่อทุกแขนงที่ต่างต้องมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นสื่อดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์ค่อยๆ ปิดตัวลงไป หรือไม่ก็ปรับตัวเข้าสู่ระบบออนไลน์ แต่ก็ยังถือว่าเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และพร้อมที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมทางด้านจริยธรรมต่อไปเหมือนเดิม
ขณะเดียวกันก็มีสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆอีกหลายๆ สำนักและเสนอตัวที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งได้ทำหน้าที่องค์กรกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ มาเป็นเวลานานถึง 23 ปี จึงได้ยกระดับขึ้นมาเป็น “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ครอบคลุมถึงสื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลที่มีจำนวนมากขึ้นดังกล่าวแล้ว
โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา และเริ่มมีคณะกรรมการชุดแรกเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนในยุคใหม่ที่สื่อต่างๆ มีการหลอมรวมกันมาบรรจบเป็นสื่อออนไลน์เกือบทั้งหมด
ในโอกาสที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งนับรวมตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะมีอายุครบ 24 ปีเต็มในวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการจึงมีมติให้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการแบบ New Normal เพื่อให้ท่านผู้อ่านและพี่น้องประชาชนชาวไทยได้รู้จักองค์กรเก่า แต่ขยายขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วนองค์กรนี้มากขึ้น
โดยจะจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เทคโนโลยีสื่อในอนาคตกับความท้าทายกำกับดูแล” โดยเชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มานำเสนอมุมมองว่า ในภาวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว การกำกับดูแลสื่อมวลชนในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
นอกจากนี้ จะเปิดวงอภิปรายในหัวข้อเดียวกัน โดยมีผู้บริหารสื่อมวลชนหลากหลายรูปแบบและนักวิชาการด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมอภิปราย
ส่วนไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในวันนี้ สภาการสื่อมวลชนฯ จะลงนามข้อตกลงการใช้งานระบบ Social Listening หรือการรับฟังผู้บริโภคสื่อผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ กับ Wisesight (Thailand) เพื่อยกระดับการกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนให้ครบถ้วนขึ้น
งานทั้งหมดนี้สามารถติดตามรับชมได้ตั้งแต่เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป ที่เพจของ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ www.facebook/PressCouncilThailand/ และ www.facebook.co./ThaiPBS/
ผมในฐานะศิษย์เก่าของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่วันนี้ยกระดับขึ้นเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติแล้ว ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาชีพและวิชาการสื่อมวลชน ร่วมฟังการปาฐกถาและการอภิปรายผ่านช่องทางออนไลน์ข้างต้นด้วยนะครับ
ตามธรรมเนียมทุกปี ผมก็ขอให้กำลังใจเพื่อนสื่อมวลชนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนฯ ให้ฝ่าฟันผ่านวิกฤติไปได้อย่างปลอดภัย ด้วยการทำหน้าที่ภายใต้หลักจริยธรรมสื่อมวลชนให้เป็นหลักของสังคมไทยต่อไป…
“ซูม”