ท่านผู้อ่านที่ติดตามการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ในช่วงหลังๆ นี้คงจะสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในส่วนที่เป็นตัวเลขของ “ผู้ป่วยรายใหม่”
คือจะมีการแบ่งช่องบอกที่มาที่ไปของผู้ติดเชื้อใหม่ละเอียดขึ้น
เริ่มจากจะบอกจำนวนรวมก่อนว่ากี่คน? แล้วก็บอกว่าเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศกี่คน? ติดเชื้อจากสถานที่กักกันของรัฐกี่คน? ติดเชื้อในฐานะเดินทางจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกันกี่คน?
พร้อมกับมีช่องพิเศษอีกช่อง ใช้ข้อความว่า ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุก) กี่คน?
ช่องหลังสุดนี่แหละครับที่จะมียอดตัวเลขค่อนข้างเยอะหน่อยในวันนี้ และเป็นตัวเลขที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกไม่สบายใจ
อย่างเช่นวันแรกเลยที่มีการแถลงในลักษณะนี้ จะเห็นได้ว่าช่องติดเชื้อในประเทศมี 19 ราย ติดเชื้อจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้มี 41 ราย…แต่ช่องติดเชื้อใน แรงงานต่างด้าวคัดกรองเชิงรุก จะมีสูงถึง 516 ราย
ก็ดีเหมือนกันครับที่แถลงในลักษณะนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วๆ ไปรู้สึกเบาใจขึ้นว่าตัวเลขที่ติดเชื้อมากๆ สะสมใกล้จะถึง 1,000 คนแล้วนั้น เป็นตัวเลขของ แรงงานต่างด้าว
ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะอยู่รวมๆ กันเป็นหอพักบ้าง เป็นบ้านพักที่อยู่ติดๆ กันบ้าง เมื่อพบว่าติดเชื้อแล้วก็สามารถกักตัวรอดูอาการหรือให้เป็นไข้จับไข้อยู่แต่ในหอพัก หรือบ้านพักนั้นๆ โดยไม่ออกไปเพ่นพ่านข้างนอก
อย่างที่เราทราบว่าสำหรับคนหนุ่มคนสาวหรือคนแข็งแรงที่ไม่มีโรคอะไรประจำตัวอยู่ เจ้าเชื้อโควิด-19 จะเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดานี่แหละ แต่เป็นหวัดที่แรงมากหน่อย อาการปวดหัวเยอะหน่อย แต่ในที่สุดก็จะค่อยๆ หายไปเอง
ที่ทางราชการเขาให้ผู้ติดเชื้อที่ว่านี้ไปกักตัวรวมกัน แล้วก็มีการล้อมรั้วเอาไว้ไม่ให้ออกไปไหนจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
เหมือนกับที่ สิงคโปร์ ซึ่งช่วงหนึ่งติดเชื้อมากวันละเป็นพันๆ ราย แต่เป็นแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น เขาก็กักตัวไว้ให้อยู่แต่ในหอพัก หรือบ้านพักคนงานเท่านั้น
ทำให้ของสิงคโปร์แม้จะมียอดติดเชื้อสูงมาก แต่ยอดผู้เสียชีวิตก็น้อยมากเช่นกัน เพราะเขาคุมได้ชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการเพ่นพ่านออกไปแพร่เชื้อที่อื่นๆ หรือไปทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของเขาเดือดร้อน
แต่ประเด็นที่น่าคิดและจำเป็นต้องคิดก็คือ เราจะคุมแรงงานต่างด้าวให้อยู่เป็นสัดส่วน ไม่ออกไปเพ่นพ่านได้หรือไม่?
ในกรณีสมุทรสาครส่วนใหญ่มาทำงานในลักษณะเดียวกัน จึงมีบ้านพัก มีหอพักอยู่ในบริเวณเดียวกัน ดูแล้วน่าจะควบคุมได้ไม่ยาก และน่าจะคุมได้ดีอย่างที่สิงคโปร์เขาเอาอยู่
เป็นห่วงก็แต่แรงงานต่างด้าวประเภท “ดาวกระจาย” ที่ไม่ได้มาทำงานโรงงานหรือแพปลา แพกุ้ง แต่กระจายไปทำงานสารพัดในเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศนั่นแหละ
จะมีกี่มากน้อยที่หนีกลับบ้านแล้วมาใหม่ โดยผ่านช่องทางธรรมชาติ จ่ายหัวละ 5 พัน หรือ 1 หมื่นบาทโดยไม่กักตัว?
เราจะตรวจเชิงรุกกับกลุ่มนี้อย่างไรดีครับ?
ฝากให้ทาง ศบค.ก็ดี ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ดี หรือรัฐบาลโดยตรงเลยก็ดี ช่วยเก็บไปคิดเป็นการบ้านด้วยนะครับ
สำหรับประเด็นการติดเชื้อ “ในประเทศ” ซึ่งเป็นการติดเชื้อของคนไทยเราแท้ๆ ที่บอกว่ามีวันละ 14 ราย 15 รายนั้น…แม้จะดูเหมือนตัวเลขยังน้อยอยู่ แต่ก็น่ากลัวนะครับ
อย่าลืมว่าเจ้าโควิด-19 นั้น มันแพร่เชื้อง่ายยิ่งกว่าจดหมายห่วงลูกโซ่เสียอีก จาก 14-15 ราย สามารถกระจายเป็นร้อยรายพันราย หรือแม้แต่หมื่นรายในเวลาไม่นาน
ที่สำคัญเห็นรายชื่อจังหวัดที่ติดเพิ่มใหม่ในแต่ละวันแล้วก็ไม่สบายใจ เพราะเดี๋ยวโผล่ที่นั่น โผล่ที่นี่ เพิ่มจังหวัดขึ้นเรื่อยๆ
แม้ทางสาธารณสุขท่านจะปลอบใจพวกเราว่า ท่านยังเอาอยู่ยังตามสอบสวนโรคได้อยู่เพราะรู้ที่มาที่ไปของผู้ติดเชื้อ
แต่ผมก็กลัวว่าตัวเลขมันจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ…และในที่สุดจะเหลือบ่ากว่าแรงฝ่ายสาธารณสุขไปเสียเท่านั้น
ก็ต้องหันกลับไปโทษขบวนการเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ที่ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผ่านช่องทางธรรมชาติเข้ามาได้ง่ายๆ นั่นแหละที่เป็นตัวก่อเหตุทั้งหมด
ประเทศไทยอุตส่าห์ทำคะแนนดีมาตลอดเรื่องสู้โควิด-19…จะมาสอบตกในคราวนี้เสียละกระมัง?
“ซูม”