เราเรียนรู้อะไรบ้าง? จากข่าว “วัดตีระฆัง”

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ เรื่องราวของข่าวฮอตกรณีมีผู้ร้องเรียน เรื่อง “วัดตีระฆัง” น่าจะจบลงได้แล้ว…เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสวัดไทรท่านมีเมตตา ให้อภัยแก่ทุกๆ ฝ่ายไปแล้ว

เรื่องราวดูเหมือนจะบานปลายออกมาอีกหน่อยหนึ่ง เมื่อท่านรักษาการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่านส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบคอนโดที่มีการร้องเรียน ซึ่งอ้างเหตุผลว่า ผู้เช่าเป็นชาวต่างประเทศ การตีระฆังเสียงดัง จะทำให้ผู้เช่าเลิกเช่า ฯลฯ

เหตุที่ต้องตรวจสอบก็เพราะการให้ชาวต่างประเทศเช่าคอนโดนั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีกหลายๆ ข้อ เมื่อมีข่าวออกมาเช่นนี้ ท่านก็คงต้องตรวจสอบว่า ผู้เช่าชาวต่างประเทศ ที่ว่าทำผิดข้อกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ผลของการตรวจสอบ พบว่าที่คอนโดแห่งนี้ มีการปล่อยห้องชุดให้เช่า 30 ห้อง ไม่แจ้งให้ ตม.ท้องที่ทราบ 5 ราย ถือว่าผิดกฎหมาย จึงปรับเปรียบเทียบไปรายละ 1,600 บาท

ส่วนชาวต่างชาติที่มาเช่าทั้งหมดนั้น เจ้าหน้าที่พบว่าแจ้งที่อยู่ตรงกับที่แจ้งไว้กับทาง ตม.ตั้งแต่แรกและทุกรายมีวีซ่าให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องทุกคน

น่าจะจบโดยสมบูรณ์แล้วนะครับสำหรับข่าววัดตีระฆัง

ถามว่าเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข่าวนี้? ผมก็อยากจะตอบว่า โดยส่วนตัวผมเองได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง

อย่างแรกเลยก็คือเรียนรู้ว่าเรายังมีวัดมีพระที่เคร่งในพระธรรมวินัย และในวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล…โดยเฉพาะวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์อย่างเคร่งครัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

การตีระฆังที่เป็นเหตุให้มีผู้ร้องเรียนก็เนื่องมาจากการปฏิบัติที่เคร่งครัดนี่เอง เพราะจะต้องมีการส่งสัญญาณให้พระภิกษุสงฆ์ตื่นขึ้นมาทำวัตรและปฏิบัติกิจต่างๆในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งจะเข้มกว่าช่วงเวลาปกติ

เป็นการแสดงให้เห็นว่าทางวัดไทรยังรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของช่วงเวลาเข้าพรรษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

นอกจากจะปลื้มปีติในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของวัดไทรแล้ว ผมยังรู้สึกเคารพศรัทธาท่านเจ้าอาวาสเป็นอย่างยิ่งที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมมาโดยตลอด

ให้ความร่วมมือแก่ผู้ร้องเรียนและแก่ทางราชการอย่างสม่ำเสมอ โดยสั่งให้พระตีระฆังเบาลง หรือเปลี่ยนระฆังลูกเล็กลงเป็นต้น ทั้งๆ ที่โดยจารีตประเพณี และโดยข้อตกลงยินยอมก่อนสร้างคอนโดที่มีสัญญาพ่วงท้ายไว้ ท่านไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปลดเสียงระฆังให้เลย

แต่ท่านก็ยอมลดเสียงดังที่เป็นข่าว รวมทั้งให้อภัยแก่ทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายราชการที่ด่วนออกจดหมายขอความร่วมมือจนโดนด่าพรึบ หรือแม้แต่ผู้ร้องเรียน ซึ่งท่านก็ทราบว่ามีไม่กี่คน

นอกจากที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ผมยังได้ความรู้อีกเกี่ยวกับกฎหมาย และข้อปฏิบัติต่างๆ ของการก่อสร้างคอนโดมิเนียม จากการโพสต์ชี้แจงในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งมาได้ความรู้เรื่องคนต่างชาติกับการเช่าคอนโดเป็นของแถมล่าสุด

สำหรับข้อคิดเห็นส่วนตัวของผมเองนั้น ผมก็ยังเชื่อว่า เหตุที่เรื่องนี้จุดไฟติด และมีการแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่พอใจผู้ร้องเรียนจากคอนโดแห่งนี้อย่างรุนแรงนั้น คงไม่ใช่เพราะการร้องเรียนที่สะเทือนความรู้สึกทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมเท่านั้น

แต่น่าจะมาจากความรู้สึกของความขัดแย้ง ความไม่พอใจอันเกิดจาก “ช่องว่าง” ของสังคมไทยที่ดูจะมากขึ้นทุกวันควบคู่ไปด้วย

คอนโด ถือเป็นการลงทุนชั้นสูง และเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย และยิ่งมีคำว่า “หรู” พวงท้ายก็ยิ่งแสดงว่ารวยมาก

คนรวย มักถูกกล่าวหาว่าได้อะไรไปเกือบทั้งหมดในการพัฒนาที่ผ่านมา…นอกจากรายได้มหาศาลแล้วยังได้อำนาจ ได้อิทธิพล และได้เปรียบทางกฎหมาย จนถึงกับมีคำพูดว่าคนรวยทำอะไรไม่ผิด ฯลฯ

เมื่อการร้องเรียนจากคนในคอนโด ซึ่งเป็นตัวแทนของความรวยได้ชัยชนะเหนือวัฒนธรรมเข้าไปอีกเช่นนี้ ความขุ่นเคืองที่มีอยู่ในใจว่าคนรวยเอาอีกแล้วจึงพรั่งพรูเหมือนเขื่อนแตกในบัดดล

ผมดีใจที่เรื่องนี้จบลง แต่ก็ฝากเรื่อง “ช่องว่าง” ให้รัฐบาลเก็บไปคิด เพราะการพัฒนาในแบบที่ทำให้คนรวยส่วนน้อยรวยขึ้น แต่คนจนส่วนใหญ่ยากจนลงนั้น จะนำไปสู่ความขัดแย้งอยู่เสมอ

ต้องช่วยๆ กันระวังอย่าให้เกิดความขัดแย้งหรือโต้เถียงอะไรกันบ่อยๆ นะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว!

“ซูม”