ได้เวลา “สำมะโน” แล้วจ้า คนชื่อ “มาดี” จะไปพบคุณ

วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 เลยกำหนดตอบแบบสอบถามโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2568 ทางออนไลน์มาประมาณ 1 สัปดาห์แล้วนะครับ

ท่านผู้อ่านคงจะพอจำได้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำสำมะโนประชากรครั้งนี้ เคยแจ้งข่าวเชิญชวนเอาไว้เป็นระยะ ๆ มาตั้งแต่ต้นปี

ขอเชิญชวนให้ตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1-20 เมษายน ทางเว็บไซต์ www.nso.go.th ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และเว็บไซต์ https://ทางรัฐ.com

ผมเป็นคน “โลว์เทค” อ่านข่าวแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้เข้าไปตอบคำถามใดๆทางเว็บไซต์ดังกล่าวทั้งสิ้น

แต่ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้วครับว่า จะให้ความร่วมมือใน “เฟส 2” หรือช่วงที่ 2 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจะดำเนินการต่อ

ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินมาบ้างจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า หลังจากผ่านช่วงแรก วันที่ 1 เมษายน-20 เมษายนไปแล้ว ใครก็ตามที่ยังไม่ได้ตอบคำถามทางออนไลน์ก็ขอให้รออยู่ที่บ้าน

เพราะตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2568 นี้ จะมีบุรุษหรืออาจจะเป็นสตรีก็ได้ ชื่อ “คุณมาดี” ตัวแทนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไปสอบถามคำถามต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

เพราะเมื่อรวมคำตอบเข้ามาทั้งหมดแล้วจะเป็น “ข้อมูล” ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของชาติในหลาย ๆ ประเด็นด้วยกัน

แต่เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วย “คุณมาร้าย” หรือ “คุณมิจ” …มิจฉาชีพ ในหลากหลายรูปแบบ ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจึงเกรงว่าพี่น้องประชาชนจะถูกหลอกลวง มีคนสวมรอยไปสัมภาษณ์ต่างๆ

ท่านจึงให้รายละเอียด ให้คำแนะนำมาเป็นตัวอย่างด้วยว่า ควรระวังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ลิงก์นั้นลิงก์นี้ ซึ่งคนโลว์เทคอย่างผมอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจอีกเช่นเคย ก็เลยต้องสรุปว่าให้ระวังไว้ก็แล้วกัน

เมื่อระวังแล้ว กลั่นกรองแล้วว่าผู้ที่จะมาขอพบท่านเป็น “คุณมาดี” จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ Madee NSO แน่นอน ค่อย ให้การต้อนรับและให้ความร่วมมือตอบคำถามต่างๆตามข้อเท็จจริง

เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องจากทุก ๆ ท่าน ซึ่งเมื่อนำไปรวมเป็นข้อมูลของชาติแล้ว จะเป็น “ข้อมูลที่ถูกต้อง” สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาทุกด้านได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ จะใช้วิธีลงไปสอบถามโดยตรง และจะต้องสอบถามทุกครัวเรือนตามความหมายของการทำ “สำมะโน” มิใช่การสำรวจ ซึ่งใช้ตัวอย่างได้

งานสำมะโนจึงเป็นงานใหญ่มากและมีปัญหาสอบถามไม่ครบถ้วน ทำให้ข้อมูลเบี่ยงเบนจากความเป็นจริงไปมากแทบทุกครั้ง

จบงานสำมะโนแล้ว มักจะมีข่าวว่านักวิชาการต้องมาประชุมหารือ มาใช้ทฤษฎี ใช้ความรู้ความชำนาญในการประมาณการตัวเลขกันอีก เพื่อให้ใกล้เคียงและถูกต้องที่สุด

จนถึงยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคดิจิทัล ยุคออนไลน์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงหันมาทดลองใช้วิธีใหม่คือ แบ่งออกเป็นการสอบถามทางออนไลน์ แบบเชิญชวนให้ตอบคำถามดังกล่าวเสียชั้นหนึ่งก่อน

จากนั้นค่อยตามไปเก็บตกอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็คงจะยากเช่นกันที่จะเก็บได้ครบ

ผมก็ขออนุญาตช่วยประชาสัมพันธ์ให้อีกแรงว่า ถ้ามี “คุณมาดี” ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่ามาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็ขอให้ต้อนรับและตอบคำถามด้วย

ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือน

ประเทศไทยเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านข้อมูลที่สุด… จะใช้ทุกครั้งต้องระมัดระวังอยู่เสมอ

ขออวยพรให้การจัดทำในปี 2568 ตามที่แถลงข่าวอยู่นี้จงดำเนินไปด้วยดี…และจบลงด้วย “ข้อมูล” ตัวเลขส่วนรวมที่เชื่อถือได้นะครับน้อง ๆ “มาดี”.

“ซูม”

เจ้าหน้าที่ "คุณมาดี" จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2568 พร้อมให้ข้อมูลประชาชนระหว่างวันที่ 21 เมษายน ถึง 19 มิถุนายน 2568