สัปดาห์นี้ถือ ว่าเป็นสัปดาห์เข้มข้นสุดๆ สำหรับการเมืองของประเทศไทย เพราะจะเป็นสัปดาห์แห่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยพรรคฝ่ายค้านตั้งแต่วันที่ 24–25–26 มีนาคม
ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ข่าวยังสับสน บางฉบับว่าจะอภิปราย 2 วัน คือ 24-25 แล้วลงมติ 26 แต่บางฉบับบอกว่าฝ่ายค้านขอยื้ออภิปรายถึงวันที่ 26 ด้วย แล้วลงมติ 27 โปรดตรวจสอบอีกทีนะครับ
ผมไม่ได้เขียนถึงเรื่องการเมืองมานานแล้ว วันนี้ขอถือโอกาสเขียนให้เข้ากับบรรยากาศการเมืองไทยสักวันก็แล้วกัน
เขียนสนุกๆแบบผ่อนคลายตามสไตล์เหะหะพาทีจะได้ไม่เคร่งเครียดกับการอภิปรายมากนักว่างั้นเถอะ
เผอิญว่าวันอภิปรายครั้งนี้ใน 3 วันนั้น มีอยู่วันหนึ่งไปตรงกับวันที่ “26 มีนาคม” ซึ่งเป็นวันแห่งความหลังที่สำคัญยิ่งวันหนึ่งของการเมืองไทย…ผมอ่านข่าวตอนแรกก็ตกใจทำไมถึงเลือกเอาวันนี้ก็ไม่รู้
จำได้ไหมครับ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 เมื่อ 48 ปีก่อนโน้น พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ ได้ก่อการปฏิวัติขึ้นแต่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงกลายเป็นกบฏเรียกว่า “กบฏ 26 มีนาคม” ในยุคที่นาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
พลเอกฉลาดถูกจับกุมและต่อมาก็ถูกประหารชีวิต ณ เรือนจำบางขวาง เมื่อวันที่ 21 เมษายนปีเดียวกัน
พลเอกฉลาดนั้นท่านเป็นที่รักของผู้สื่อข่าวยุคเก่าจำนวนมาก ตอนที่ท่านยังไม่แพ้ และยึดสวนรื่นฤดีไว้เป็นกองบัญชาการ จึงมีเพื่อน ๆ ผู้สื่อข่าวแวะไปให้กำลังใจจำนวนมาก
ปรากฏว่าออกจากสวนรื่นฤดีไม่ทันพลเอกฉลาดแพ้เสียก่อนเพื่อน ๆ พี่ ๆ สื่อมวลชนหลายคนยุคนั้นก็เลยพลอยถูกจับกุมในข้อหากบฏไปด้วย
หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือพี่ พิชัย วาศนาส่ง อดีตพิธีกรและผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ชื่อดังมากเมื่อ พ.ศ.2520…ปรากฏว่าพี่พิชัยเจอหางเลขถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวางถึง 9 เดือน เขียนหนังสือ “ตำราพิชัยสงครามของซุนวู” ได้ 1 เล่ม และกลายเป็นหนังสือที่ขายดีมากเล่มหนึ่งในภายหลัง
ถึงวันที่ 26 มีนาคมทีไร พวกเรานักข่าวรุ่นเก่า ๆ ก็มักจะนึกถึงวันตึงเครียด 26 มีนาคม 2520 อยู่เสมอ แม้จะผ่านไปเกือบ 50 ปีเข้านี่แล้ว
จริง ๆ แล้วถ้าไม่นับวันที่ 26 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นวันกบฏของ เสธ.ฉลาดในประเทศไทยละก็ เท่าที่ดูในเอกสารบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้ทั่วโลกก็ค่อนข้างจะเป็นเรื่องดีๆเป็นส่วนใหญ่
เช่น 26 มีนาคม พ.ศ.2249 อาณาจักรอังกฤษและอาณาจักรสกอตแลนด์ผนวกกันเป็นอาณาจักรบริเตนใหญ่
26 มีนาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เปิดการเดินรถไฟปฐมฤกษ์จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นวันกำเนิดกิจการรถไฟไทย
เหตุการณ์นี้ก็สำคัญ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของ ร.5” ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
ล้วนแต่เป็นเรื่องดีๆทั้งสิ้น…จะมีอีกเรื่องที่เป็นไปในเชิงข่าวร้ายหน่อยก็คือ 26 มีนาคม 2510 นาย จิม ทอมป์สัน เจ้าของฉายาราชาไหมไทย หายตัวไปอย่างลึกลับในประเทศไทย
สำหรับปีนี้ 2568 ก็จะมีงานใหญ่ถึง 2 งาน ได้ฤกษ์เปิดวันแรก 26 มีนาคม ประชันกัน ได้แก่ งาน “บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 46” ของนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี กับงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทยครั้งที่ 43” ของ ททท. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ก็หวังว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนางสาวแพทองธาร ระหว่าง 24-25-26 มีนาคม…โดยเฉพาะวันที่ 26 มีนาคม คงจะผ่านไปด้วยดีนะครับ
อย่ามี “อุบัติเหตุ” เหมือน 26 มีนาคม 2520 “วันกบฏพลเอกฉลาด” ตามที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบันทึกไว้ก็แล้วกัน.
“ซูม”