บทสรุป “ดุสิตธานี” บทพิสูจน์ “เสน่ห์ไทย”

ผมนั่งคิดอยู่หลายวันว่าจะตั้งชื่อเรื่องสำหรับ “ซอกแซก” ชุด “ดุสิตธานี 2568” หรือ “ดุสิตธานีคืนชีพ” ที่ผมเขียนติดต่อกันมาเป็นอาทิตย์ที่ 4 แล้ว…อย่างไรดี?

เพราะสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์สุดท้าย หรือสัปดาห์ “สรุป” ส่งท้ายแล้วละครับ สำหรับ “ซอกแซก” ชุดนี้

คงต้องขอบคุณ คุณ ชนินทธ์ โทณวณิก บุตรชายคนโตและคนเดียวในจำนวนบุตรธิดา 3 คนของท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ให้กำเนิดโรงแรมดุสิตธานีและเครือข่ายกว่า 300 แห่ง ทั่วโลกในปัจจุบันนี้…ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง

สำหรับหนังสือ “Dusit Thani 48th ANNIVERSARY” จัดพิมพ์ 4 สี ด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดี หนากว่า 200 หน้า พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 48 ปีของการก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี…ที่คุณชนินทธ์มอบให้แก่ผมเป็นที่ระลึก 1 เล่ม หลังการสัมภาษณ์พูดคุยจบลง

เพราะทุกคำถามที่ผมอยากรู้ โดยเฉพาะที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของท่านผู้หญิงชนัตถ์ที่จะสร้างโรงแรมในลักษณะนี้มีสัญลักษณ์และอัตลักษณ์เช่นนี้…ล้วนมีคำตอบอยู่ในหนังสือเล่มนี้ครบถ้วน

บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งประมวลภาพเก่าๆเอาไว้อีกหลายร้อยภาพนับตั้งแต่วันตอกเสาเข็มไปจนถึงวันที่มีแขกบ้านแขกเมือง และคนดังระดับโลกมาเข้าพัก กลายเป็นโรงแรมจุดหมายปลายทางโรงแรมหนึ่งของนักท่องเที่ยวระดับโลกในชั่วระยะเวลาเพียง 48 ปี

ยกตัวอย่างเช่น ผมอยากรู้ว่าทำไมโรงแรมนี้จึงใช้ชื่อเป็นไทยๆ ต่างกับโรงแรมทั่วๆไปที่มักตั้งชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ? ที่สำคัญทำไมต้องใช้ชื่อว่า ดุสิตธานี?

หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบว่า…ท่านผู้หญิงชนัตถ์นึกถึงคำว่า ดุสิตธานี ระหว่างพิธีสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่หน้าสวนลุมพินี หลังจากตัดสินใจสร้างโรงแรมแห่งนี้ขึ้น ณ อีกฟากถนนหนึ่งหน้าพระบรมรูป

“หลายๆ ฝ่ายแนะนำให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ เพราะโรงแรมจะต้องให้บริการแก่ชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ จะได้เรียกง่ายและเข้าใจง่าย…แต่ดิฉันคิดว่าดิฉันเป็นคนไทย และโรงแรมนี้ก็อยู่ในประเทศไทย ควรใช้ชื่อไทย การออกเสียงก็ไพเราะมีความหมายและชื่อก็เป็นมงคลแก่ผู้มาพักด้วย คือเหมือนได้มาพักอยู่บนสวรรค์ชั้น 4 (ชั้นดุสิต)”

“แต่ที่สำคัญที่สุดก็เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงสร้างเมืองจำลองประชาธิปไตย ดุสิตธานี ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2461 ในบริเวณพระราชวังพญาไท”

ต่อมาเหตุการณ์ก็พิสูจน์ว่าชื่อไทยๆที่เรียกเต็มคำว่า “DUSIT THANI” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “DUSIT” เป็นชื่อที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถออกเสียงได้ง่าย ๆ และจำได้ง่าย ๆ…กลายเป็นชื่อโรงแรมในระดับสากลที่มีชื่อเป็นไทย ๆ ติดปากชาวโลกมาจนถึงวันนี้

หลายๆบันทึกในหนังสือเล่มนี้ระบุไว้ชัดเจนว่าท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นบุคคลที่เชื่อมั่นในความเป็นไทย และ “เสน่ห์ไทย”…ท่านเชื่ออย่างจริงใจว่า “ความเป็นไทย” นั้นมีเสน่ห์งดงาม เป็นเอกลักษณ์ที่อวดชาวต่างชาติได้ และในภาษาการตลาดก็คือ สามารถ “ขายได้” ไปตลอดกาลนาน

โรงแรมดุสิตธานีจึงมิใช่เพียงชื่อเท่านั้นที่เป็น “ไทย” แต่ยังรวมถึงตัวอาคาร การตกแต่ง การบริการ ตลอดจนกิจกรรมและอีกหลาย ๆ ร้อยอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ไทย

สัปดาห์ก่อน ๆ เราคุยกันไปแล้วเรื่องของ “เสาเบญจรงค์”, ห้องอาหาร เบญจรงค์ ตลอดจน “ลายไทย” ที่สอดแทรกอยู่ทุกจุดของดุสิตธานี รวมทั้ง จิตรกรรมไทย ฝีมือ “ท่านกูฏ” อาจารย์ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ศิษย์รุ่นแรกของท่านอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ซึ่งดุสิตธานียุคใหม่ยังคงรักษาไว้

แต่ก็นั่นแหละในทุกความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมจะต้องมีการเกิดขึ้นใหม่ และสูญหายไปบ้างไม่มีทางที่จะเก็บไว้ครบถ้วนเหมือนเดิมได้

ดังเช่นบริเวณล็อบบี้ของโรงแรมดุสิตธานีเก่าที่ยิ่งใหญ่อลังการเหลือเกิน ตกแต่งประดับประดาแบบไทย ๆ ที่ผมคิดว่าน่าจะสวยงาม และขอใช้คำว่า “อลังการ”…ที่สุดในบรรดาโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศไทยในช่วง 50 ปีที่แล้ว

ขอบคุณที่หนังสือเล่มนี้ยังเก็บภาพไว้ เพราะในการปรับปรุงครั้งใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และด้วยความจำเป็นที่จะต้องแบ่งเนื้อที่ไปสร้างอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ทำให้ “ล็อบบี้ใหม่” ซึ่งแม้จะทันสมัย แต่ความยิ่งใหญ่ลดลงไปไม่น้อยเมื่อเทียบกับล็อบบี้เดิม

บทสรุปของผมสำหรับโรงแรมดุสิตธานี จึงเป็นดั่งที่ผมพาดหัวคอลัมน์วันนี้ไว้แหละครับว่า “ดุสิตธานี” คือบทพิสูจน์ที่แท้จริงอีกบทหนึ่งของคำว่า “เสน่ห์ไทย”

“เสน่ห์” ที่หอมหวาน หอมหวน และเป็นที่ติดอกติดใจของชาวโลก ย้อนกลับไปในอดีตก็น่าจะตั้งแต่สมัยอยุธยาโน่นแล้ว…หรือถ้าย้อนมาใกล้ๆหน่อยเมื่อ 60 ปีเศษๆที่ผ่านมาในการจัดทำแผน พัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เราก็ค้นพบแล้วว่า “เสน่ห์ไทย” ขายได้อย่างแน่นอน…จึงมีการพูดถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และมีการจัดตั้ง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จนพัฒนามาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามลำดับ

ขอบพระคุณท่านผู้หญิงชนัตถ์อีกครั้ง สำหรับความเชื่อมั่นและการบุกเบิกที่สำคัญยิ่ง สำหรับถ้อยคำที่สมัยนี้อาจเรียกกันโก้ ๆ ว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” แต่สำหรับผม…ผมชอบคำว่า “เสน่ห์ไทย” ของท่านผู้หญิงมากกว่าครับและหวังว่าเราจะช่วยกันรักษาคำนี้ เพื่อให้ประเทศไทยของเรามี “เสน่ห์” ตลอดไปตราบนานแสนนาน.

“ซูม”

โรงแรมดุสิตธานี ผสมผสานเสน่ห์ไทยกับความเป็นสากล และมีชื่อเสียงระดับโลกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว