“เด็กเตรียมอุดมฯ” ตัวอย่าง “เรียนเก่ง” ช่วย “สังคม”

เมื่อ 2 วันก่อน หลานๆโอปะเรเตอร์ไทยรัฐโทรศัพท์มาถึงผม แจ้งว่ามีผู้จัดทำหนังสือรุ่นของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โทร.มาขออนุญาตนำบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนดังกล่าวในไทยรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น…ไปลงตีพิมพ์ในหนังสือที่กำลังจัดทำอยู่…ผมจะขัดข้องหรือไม่?

ผมรีบตอบทันทีว่านอกจากไม่ขัดข้องแล้วยังรู้สึกยินดีและขอบคุณ…อนุมัติให้นำไปจัดพิมพ์ได้เต็มที่ตามที่ขอมา

สำหรับบทความที่ว่านี้ผมเขียนถึง “ปรากฏการณ์โรงเรียนเตรียมอุดม” ที่มีเด็กๆแห่ไปสอบเข้ากว่า 1 หมื่นคน ที่อาคารชาเลนเจอร์ และฮอลล์ต่าง ๆ ของเมืองทองธานี เมื่อต้นเดือนมีนาคม

แล้วผมก็สรุปว่า การมีโรงเรียนดี ๆ สำหรับคัดกรองเด็กสมองดี เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ขอให้เก็บรักษาไว้อย่าไปล้มเลิกเสีย

เพราะโลกเราในทุกวันนี้เป็นโลกของการแข่งขัน…จำเป็นจะต้องมีคนสมองดีไว้เรียนวิชายาก ๆ ช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต…การที่เรามีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเอาไว้สำหรับคัดกรองเด็ก ๆ เหล่านี้จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศเรา

ขอเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเมื่อได้เด็กเก่งเด็กสมองดีมาแล้วก็ขอให้ทางโรงเรียนช่วยสอนเพิ่มเติมให้เด็กๆมีความรักในประเทศไทยในสังคมไทยและนำความรู้ที่พวกเขาได้ร่ำเรียนด้วยคะแนนอันดีเลิศนั้นมาถ่ายทอดต่อ มาช่วยเหลือประเทศชาติ และสังคมไทยของเราต่อไป

ขณะเดียวกันผมก็คุยไว้ตอนหนึ่งว่านักเรียนเตรียมอุดมศึกษาในอดีตรุ่นเดียวกับผมนี่แหละที่เก่งมาก และได้มีโอกาสไปร่ำเรียนสูงๆมาช่วยเหลือประเทศชาติอย่างน่ายกย่องชมเชยหลายๆท่านมีโอกาสว่างๆผมจะมาเล่าสู่กันฟัง

นักเรียนเตรียมอุดมศึกษารุ่นผม ที่มาสอบเข้าเมื่อ พ.ศ.2501 เรียกกันว่า “ตอ.21” หรือรุ่นที่ 21 คนสอบได้ที่ 1 ทั้งสอบเข้าและสอบออก ได้แก่ คุณหมอ วิจารณ์ พานิช ที่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะได้ยินชื่อเสียงมาบ้าง

การสอบออกได้ที่ 1 ซึ่งใช้ข้อสอบรวมทั้งประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลให้ วิจารณ์ พานิช “ติดบอร์ด” เป็นที่ 1 ของประเทศไทยในแผนวิทยาศาสตร์ มีการอ่านชื่อผ่านวิทยุประเทศไทย

วิจารณ์สอบเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วสอบข้ามฟากไปเรียนแพทย์ที่ศิริราช…เมื่อจบแล้วไปต่อที่มหา วิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ ที่มหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโอนย้ายมามหาวิทยาลัยมหิดลในที่สุด

ท่านผู้อ่านลองคลิกเข้ากูเกิลค้นชื่อ นพ.วิจารณ์ พานิช ดูเถิดแล้วจะพบว่าคุณหมอท่านนี้ได้ร่ำเรียนและทำงานเติบโตมาในสายวิชาชีพด้านแพทย์ ในตำแหน่งต่างๆยาวเหยียด จนได้เป็นถึง นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

แม้ทุกตำแหน่งจะสำคัญทั้งสิ้น แต่ตำแหน่งที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดคือ การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ซึ่งเป็นผลให้คุณหมอวิจารณ์ผันตัวเองจากการเป็นแพทย์รักษามนุษย์มาเป็นนักการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพของ มนุษย์ ในสังคมไทยได้อย่างเหลือเชื่อ

ท่านกลายเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ปลุกใจคุณครูและนักการศึกษาหลายร้อยหลายพันคนให้จับมือกันเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ผ่านระบบการ เรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้อุดมการณ์ Education For All และ All For Education ในทุกวันนี้

นี่คือตัวอย่างของ “เด็กเตรียมอุดม” คนหนึ่งเมื่อ 61 ปีก่อน และเป็นคนแก่วัย 83 ปี ของประเทศไทยใน พ.ศ.นี้–คนแก่ที่ยังเต็มไปด้วยไฟ “แห่งการศึกษา” ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้แก่เยาวชนไทยรุ่นหลังได้มีความรู้และมีกำลังใจที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป

เขียนแล้วก็รู้สึกติดลม…พรุ่งนี้ผมขอเขียนถึงอีกสักคนนะครับ…เด็กเตรียมฯที่ควรจะได้เป็นนายธนาคารใหญ่คนหนึ่งของประเทศ แต่กลับเดินหน้าลงสู่ท้องนาเพื่อพัฒนาชนบทไทย.

“ซูม”