คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร นับเป็นคณะที่ 39 ของประเทศไทย เริ่มบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2519 หลังจากพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ นำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
นายกฯ ธานินทร์เปรียบเทียบคณะรัฐบาลของท่านว่า เสมือน “เนื้อหอย” หรือ “ตัวหอย” ซึ่งมี “เปลือก” ที่แข็งแกร่ง อันได้แก่ “คณะทหาร” ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด คอยปกป้องคุ้มครอง
เป็นที่มาของการตั้งฉายา หรือเรียกรัฐบาลของท่านว่าเป็น “รัฐบาลหอย” มานับแต่นั้น
ในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศนั้น รัฐบาลถือว่า การปราบปรามคอมมิวนิสต์ เป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุด มีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2496 และดำเนินการปราบปรามจับกุมกวาดล้างอย่างเข้มข้น
เป็นผลให้มีการหลบหนีเข้าป่าของบุคคลหลาย ๆ ฝ่าย และมีการต่อสู้ที่รุนแรงขึ้นไปอีกทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ให้อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจอย่างกว้างขวาง ในการจับกุมคุมขังบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับ เพื่อควบคุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน หากบุคคลนั้นเป็นที่ต้องสงสัยว่าจะเป็น “ภัยต่อสังคม” และต่อความมั่นคงของประเทศ
มีรายงานว่า ภายใต้คำสั่งฉบับนี้มีผู้ถูกจับกุมข้อหาเป็นภัยสังคมกว่า 2,000 คน ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
ขณะเดียวกันก็ยังมีการออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ที่เรียกกันว่า ปร.42 ออกมาควบคุมเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเจ้าพนักงานการพิมพ์ ทำหน้าที่อ่านและตรวจตราการนำเสนอข่าวและบทความอย่างละเอียด ซึ่งก็ปรากฏว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอให้เจ้าพนักงานการพิมพ์สั่งปิดหนังสือพิมพ์ไปถึง 22 ครั้ง
แม้นโยบายด้านเศรษฐกิจหรือการพัฒนาประเทศโดยทั่วไป จะอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร แต่จากการที่นโยบาย 3 ประการแรกได้สร้างแรงต่อต้านที่รุนแรงโดยเฉพาะนโยบายปราบคอมมิวนิสต์ และการควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชนที่ได้สร้างความกดดันและสร้างบรรยากาศแห่งความตึงเครียด จนเป็นเหตุให้นโยบายด้านพัฒนาเศรษฐกิจไม่บรรลุผล
ที่สำคัญนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้รัฐบาลต้องประกาศตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชายแดนทรุดลง
ต่อมาในวันที่ 26 เดือนมีนาคม 2520 ก็เกิด “กบฏ 26 มีนา” นำโดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งแม้ทางฝ่ายทหารที่สนับสนุนรัฐบาลจะสามารถปราบและจับกุมตัวพลเอกฉลาดไว้ได้ แต่ก็เริ่มชี้ให้เห็นถึงความแตกแยกในกองทัพไทยได้เกิดขึ้นแล้ว
การบริหารในภาคราชการก็เต็มไปด้วยข่าวความสับสนวุ่นวาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายรายถูกย้ายถูกปลดถูกตั้งข้อกล่าวหา เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น นายอานันท์ ปันยารชุน และปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น ดร.อำนวย วีรวรรณ ฯลฯ เป็นต้น
ในที่สุดบรรดา “เปลือกหอย” หรือคณะทหารที่ปกป้องคุ้มครอง “เนื้อหอย” (รัฐบาล) อยู่ก็หมดความอดทน หันมาทำรัฐประหารรัฐบาลนายกฯธานินทร์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และแต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ทุกสิ่งทุกอย่างจึงค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากปิดฉากรัฐบาลหอย ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 1 ปี กับ 12 วัน
มองย้อนกลับไปในอดีตแม้ 1 ปีของรัฐบาลหอยจะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายดังได้กล่าวไว้แล้ว แต่ก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อประเทศไทยอยู่ประการหนึ่งคือ การใช้นโยบายขวาตกขอบ และเผด็จการสุดโต่งนั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถจะรับได้
ส่งผลให้การปฏิวัติรัฐประหารของประเทศไทยแม้จะยังคงมีอยู่ แต่ผู้ปฏิวัติรัฐประหารในยุคหลัง ๆ ไม่มีใครกล้าใช้นโยบาย “เผด็จการสุดโต่ง” อีกเลย.
“ซูม”