ตำนาน “ถอนขนห่าน” ทฤษฎีการคลัง “300 ปี”

อ่านข่าวท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแสดงปาฐกถา เรื่องควรปฏิรูประบบภาษีของเราเป็นส่วนรวมขึ้นบ้างลดบ้าง แต่คนไทยหยิบไปตีความว่า รัฐบาลจะขึ้นภาษีแวต 15 เปอร์เซ็นต์

ก็ทำให้ผมนึกถึงตำราการคลังเบื้องต้น ที่ผมเคยเรียนเมื่ออยู่ชั้นปี 1 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ขึ้นมาทันที

จำได้ว่าอาจารย์ที่สอนวิชานี้ท่านบอกว่าการเก็บภาษีเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อนำมาเป็นเงินลงทุนของรัฐบาลในด้านต่างๆ แต่ผู้คนทุกชาติล้วนไม่อยากเสียภาษี จะมีการต่อต้านทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่เสมอ

จนเกิดเป็นทฤษฎีและคำสอนในวิชาการคลัง หรือการเก็บภาษีว่า “การเก็บภาษีก็เหมือนการถอนขนห่าน…ทำอย่างไรจึงจะสามารถเก็บภาษีได้มากที่สุด โดยทำให้ “ประชาชน” หรือ “ห่าน” ร้องน้อยที่สุด”

พออาจารย์สอนจบ เพื่อนที่เป็นนักอ่านหนังสือก็ไปค้นที่ห้องสมุดกลับมาบอกพวกเราว่า คำสอนเรื่องถอนขนห่านเนี่ย…เกิดมาตั้งแต่สมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสโน่นแล้ว (ค.ศ.1683-1715)

รัฐมนตรีคลังท่านหนึ่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นคนคิดทฤษฎีนี้เพื่อสอนลูกน้องของท่าน ซึ่งจะออกไปเก็บภาษีให้รู้จักค้นหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนต่อต้านน้อยที่สุด จึงเปรียบกับการถอนขนห่านดังกล่าว

ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่พนักงานเก็บภาษีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะไปปฏิบัติได้ง่ายๆ เพราะตามที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้นั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้พระราชทรัพย์อย่างพระหัตถ์เติบมาก…ทรงย้ายจากพระราชวัง ลูฟวร์ (Louvre) ไปประทับที่ แวร์ซาย (Versailles) ใช้เงินใช้ทองในการปรับปรุงใหม่จำนวนมาก

หากนับเวลาย้อนกลับไปที่ยุคดังกล่าวก็น่าจะประมาณ 300 กว่าปีมาแล้ว เพราะอยู่ในยุคเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของเรา

ผมไม่สามารถค้นหา “ศิลปะ” การถอนขนห่านโดยไม่ให้ห่านร้อง หรือให้ร้อง (Hissing) น้อยที่สุดนั้น…ต้องทำอย่างไรบ้างในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14…มาฝากท่านผู้อ่านได้

แต่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็คือ การใช้ “วิธีสื่อสาร” อย่างตรงไปตรงมา บอกให้ประชาชนเห็นความจำเป็นว่า จำเป็นต้องขึ้นภาษีแล้ว เพราะถ้าไม่งั้นรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ จะไม่มีเงินมาลงทุน ไม่มีเงินมาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในด้านต่างๆ

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นเป็นตัวอย่างและเกิดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะนำเงินภาษีหรือขน “ห่าน” ที่ถอนมาได้นั้นมาใช้อย่างคุ้มค่าอย่างเกิดประโยชน์…โดยไม่โกงกินไม่มีคอร์รัปชันรั่วไหลเข้าปากเข้าท้องบุคคลในรัฐบาล

ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากวิธีการที่จะทำให้ “ห่าน” ร้องน้อยที่สุดคือวิธีการดังกล่าวนี้ละก็ รัฐบาลชุดปัจจุบันคงปฏิบัติได้ยาก

เพราะใช้นโยบายประชานิยม ใช้เงินมือเติบมาตลอดและในอดีตก็ยังพัวพันกับคดีคอร์รัปชันต่างๆ มีนักการเมืองในสังกัดโดนศาลพิพากษาจำคุกในคดีคอร์รัปชันหลายต่อหลายคน

จึงเป็นการยากที่รัฐบาลนี้จะ “ถอนขนห่าน” โดยมิให้ห่านร้อง หรือร้องน้อยที่สุดตามทฤษฎีข้างต้น

นอกเสียจากทางฝ่ายการเมืองแล้ว ผมก็ฝากถึงฝ่ายข้าราชการประจำคือ ข้าราชการกระทรวงการคลังไว้ด้วยนะครับ…

ผมไม่ค่อยได้ยินข่าวว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงการคลังยุคนี้ทักท้วงรัฐบาลชุดนี้แบบว่าสถานการณ์คลังเราเป็นอย่างไร…การเก็บภาษียากเย็นขนาดไหน ควรใช้เงินภาษีอากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร…มีแต่โอนอ่อนผ่อนตามรัฐบาลอยู่ตลอด

ไม่เหมือนแบงก์ชาติที่ยังแสดงจุดยืนให้เห็นว่าสถานการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร และการแจกลูกเดียวจะนำไปสู่สถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาอย่างไรบ้าง?

ไม่ทราบว่าวิญญาณนักการคลังรุ่นเก่าที่ประชาชนเคารพนับถืออย่างอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, อย่างอาจารย์ บุญมา วงศ์สวรรค์, อย่าง ปู่สมหมาย ฮุนตระกูล หายไปไหนหมดก็ไม่รู้ซี

ไม่ได้ต่อว่านะน้องๆ แค่เตือนความทรงจำของผมเท่านั้นเอง.

“ซูม”

การเก็บภาษีในประเทศไทย: ทฤษฎีถอนขนห่านและการปฏิรูประบบภาษีในฝรั่งเศส