“สุพรรณหงส์” + “พระราม 8” เชื่อม “อดีต” สู่ “ปัจจุบัน”

ผมขออนุญาตเขียนเรื่องเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ต่อจากเมื่อวานนี้อีกสักวันนะครับ เพราะยังมีอีกหลายๆ ภาพที่ประทับใจ ระหว่างดูโทรทัศน์ถ่ายทอดสด เห็นแล้วก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะเขียนถึงเป็นอีกหนึ่ง “บันทึกประเทศไทย” สำหรับปี 2567

เขียนหลายภาพเดี๋ยวจะยืดเยื้อเกินไป ขอเพียงภาพเดียวเท่านั้น คือภาพขณะที่ขบวนพยุหยาตราที่ล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยา จากท่าวาสุกรีกำลังจะลอดผ่าน สะพานพระราม 8 ก็แล้วกัน

สะพานพระราม 8 เป็นสะพานสวยงามมากสะพานหนึ่ง ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากถนนวิสุทธิกษัตริย์เลาะข้างธนาคารแห่งประเทศไทยไปสู่บริเวณอันเคยเป็นที่ตั้งของโรงงานสุราบางยี่ขันเพื่อเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีไปจนถึงย่านพุทธมณฑลและต่อยาวไปจนถึงถนนเพชรเกษมและฯลฯโน่นเลย

เป็นสะพานที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอันเนื่องจากยังมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

นอกจากสวยงามแล้วสะพานพระราม 8 ยังสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็น “สะพานขึง” แบบสมมาตร “เสาเดี่ยว”สำหรับขึงสายเคเบิลทั้งหมด 28 คู่ ในการรับน้ำหนักสะพาน โดยไม่ต้องใช้ “ตอม่อ” ช่วยรองรับแต่อย่างใด

สะพานมีความยาวทั้งสิ้น 450 เมตร เป็นอันดับ 5 ของโลกรองจากเยอรมนี ซึ่งมีสะพานลักษณะนี้ถึง 3 สะพาน และที่เนปาลอีกหนึ่งสะพาน

ในแง่ความปลอดภัยมีรายงานว่าได้มีการทดสอบแรงดึงในลวดสลิงถึง 1 ล้านครั้ง โดยใช้แรงดึงปกติ 10 ตัน ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ ระหว่างทดสอบ นับว่าเป็นสะพานที่มีความปลอดภัยสูงยิ่ง

จัดสร้างโดยบริษัท Buckland and Taylor แห่งแคนาดา ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทก่อสร้างสะพานในแม่น้ำที่มีชื่อเสียงบริษัทหนึ่งของโลก เริ่มลงก่อสร้างเดือนมีนาคม พ.ศ.2542 และแล้วเสร็จเปิดใช้งานตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ.2545 เป็นต้นมา

สำหรับ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่ใช้ในการเสด็จทางชลมารคของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมีบันทึกว่ามีการสร้างและนำมาใช้ถวายงานในรัชสมัย พระเจ้าจักรพรรดิ กษัตริย์องค์ที่ 15 แห่งกรุงศรีอยุธยาประมาณ 470 ปีเศษๆ มาแล้ว

ก่อน กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศหรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยาถึง 160 ปีโดยประมาณ

ผมขอใช้ปีที่มีการบันทึกถึงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ครั้งแรกในยุคพระเจ้าจักรพรรดิตามที่มีการกล่าวไว้ในตำราเก่าๆ หลายเล่มเป็นจุดเริ่มต้นของการย้อนอดีตก็แล้วกันครับ จะได้ไม่สับสนคือ 470 ปีเศษ หรือเกือบๆ 500 ปี ปัดเศษให้จำกันง่ายๆ

ดังนั้น เมื่อผมเห็นภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์กำลังลอดใต้สะพานพระราม 8 จึงรู้สึกขนลุกเกรียวเมื่อพบว่าอดีตอย่างน้อย 500 ปีของเราคือ เรือ “พระที่นั่งสุพรรณหงส์” กำลังแล่นไหลเข้าเชื่อมกับปัจจุบันของเราคือ “สะพานพระราม 8” ดังกล่าว

แน่นอนบางอดีตของอยุธยาก็ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์และไม่ควรให้เกิดขึ้นอีกโดยเฉพาะความแตกสามัคคีการทะเลาะเบาะแว้งแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในช่วงก่อนกรุงแตก

แต่อีกหลายๆ อดีตของกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะความรุ่งเรืองในทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการค้าการขายและการเจริญสัมพันธไมตรีข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลายๆ คาบสมุทร ล้วนเป็นเรื่องที่ดี สมควร รักษาส่งเสริมและต่อยอดนำมาปรับใช้ตลอดไป

ขอให้จุดเชื่อมของเรือพระที่นั่ง สุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นผลพวงแห่งการสร้างสรรค์โดยบรรพบุรุษของเราตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยากับ “สะพานพระราม 8” สัญลักษณ์ของความทันสมัยและเทคโนโลยียุคใหม่ จงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะส่งเสริมและหนุนนำให้ประเทศไทยของเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจและมั่นคงโดยตลอด

ประเทศใดที่ “ได้หน้า” หรือเดินหน้าแล้ว “ไม่ลืมหลัง” ประเทศนั้นจะไม่มีวัน “ถอยหลัง” อย่างแน่นอนครับ.

“ซูม”

"สุพรรณหงส์" + "พระราม 8" เชื่อม "อดีต" สู่ "ปัจจุบัน", บันทึกประเทศไทย, ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค, เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, ข่าว, ซูมซอกแซก