55 ปี “ไทยรัฐวิทยา” ลดช่องว่าง “เด็กชนบท”

เมื่อวานนี้ผมเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า กิจกรรมสำคัญใน “งานใหญ่” ที่พวกเราชาว “ไทยรัฐกรุ๊ป” จะจัดขึ้นในบ่ายวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นั้นมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก ได้แก่ การจัดเสวนาเพื่อระดมความคิดและข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงรวม 3 ท่าน และส่วนที่ 2 ได้แก่ การประมูลของการกุศลจากผู้มีชื่อเสียงหลายๆ ชิ้น เพื่อนำเงินประมูลเข้าสมทบมูลนิธิไทยรัฐ เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อไป

สำหรับวันนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมประการที่ 2 เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปอย่างย่อๆ และ “อัปเดต” สถานการณ์ล่าสุดของ มูลนิธิไทยรัฐ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบผลงานและความก้าวหน้าด้านการพัฒนาการศึกษาของชาติที่พวกเรามีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรกเริ่มอีกครั้งหนึ่ง

แม้ในเอกสารของทางราชการจะระบุว่า มูลนิธิไทยรัฐ จากการริเริ่มของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ผู้อำนวยการท่านแรกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้จดทะเบียนก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 อันเป็นวันที่ท่าน ผอ.กำพลมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

แต่ในข้อเท็จจริงแล้วท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ได้ให้ความสำคัญต่อระบบการศึกษาของชาติมาก่อนหน้านั้น และได้เข้าร่วมสนับสนุนโรงเรียนในภูมิภาคตั้งแต่ พ.ศ.2512 ก่อนการก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐถึง 10 ปีเต็ม

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐภายใต้การนำของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ร่วมกับจังหวัดลพบุรี โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด พล.ต.ต.สามารถ วายวานนท์ ใน พ.ศ.ดังกล่าว ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่าง “ทีมดาราไทยรัฐ” กับ “ทีมผสมจังหวัดลพบุรี”…ณ สนามฟุตบอล โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย

เก็บค่าผ่านประตูจากผู้เข้าชมได้จำนวนหนึ่ง และได้รับเงินบริจาค “โดยตรง” จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อีกจำนวนหนึ่ง…

สามารถสร้างอาคารเรียนแบบ ป.008 ขนาด 5 ห้องเรียนขึ้น ได้ 1 ห้อง เป็นที่มาของ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 1 (บ้านหัวช้าง) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตามคำแนะนำให้ใช้ชื่อนี้ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี

จากนั้นท่าน ผอ.กำพลก็ได้เริ่มดำเนินการ “โครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนในชนบท” อย่างเป็นทางการ โดยใช้ งบประมาณ จาก บริษัท วัชรพล จำกัด เป็นทุนในการก่อสร้างอาคารเรียนพร้อมส่งมอบให้แก่ทางราชการ (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ)

จนกระทั่งถึงปี 2522 หรืออีก 10 ปีให้หลังท่านจึงได้จัดตั้ง “มูลนิธิไทยรัฐ” ขึ้นเพื่อให้มีหน้าที่ในการสนับสนุน และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาทุกแห่งมาจนถึงทุกวันนี้

ในยุคของท่าน ผอ.กำพลก่อนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.2539 ท่านได้อนุมัติเงินให้สร้างอาคารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 แห่งทั่วประเทศ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 158,694,493 บาท และตั้งใจที่จะหยุดก่อสร้างไว้เพียงเท่านี้ก่อน

พร้อมทั้งมอบนโยบายใหม่แก่พวกเราให้หันมาทุ่มเทดูแลเอาใจใส่ และพัฒนาคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนที่เราสร้างไว้ทั้ง 101 แห่ง โดยดำเนินการผ่าน มูลนิธิไทยรัฐ เป็นหลัก

ต่อมาเมื่อท่าน ผอ.กำพลได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชนเมื่อ พ.ศ.2562 ไทยรัฐ กรุ๊ป จึงมีมติสร้างเพิ่มอีก 10 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นอีก 50 ล้านบาท ทำให้มีโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้งสิ้นทั่วประเทศในปัจจุบัน 111 แห่ง มีครูอาจารย์ 1,773 คน และเด็กนักเรียนทั้งสิ้น 22,438 คน

เงินทุกบาทที่ประมูลได้จากของการกุศลคนดังในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 จะนำเข้าสมทบ มูลนิธิไทยรัฐ ทั้งสิ้น

เพื่อใช้สำหรับการ “พัฒนา” คุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิต…ให้แก่เด็กนักเรียนทั้งหมด ณ นาทีนี้ 22,438 คนทั่วประเทศไทยที่อยู่ในความดูแลของเราไปพร้อมๆ กันครับ.

“ซูม”

55 ปี “ไทยรัฐวิทยา” ลดช่องว่าง “เด็กชนบท”, ไทยรัฐกรุ๊ป, การศึกษา, มูลนิธิไทยรัฐ,  ผอ.กำพล วัชรพล, ข่าว, ซูมซอกแซก, ข่าววันนี้, ข่าวล่าสุด