GDP มิใช่ “เป้าหมาย” สูงสุด “มนุษย์” ยังมีอีก “หลายเป้า”

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นจะได้ ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ ไปกล่าวในงานสัมมนาครบรอบ 14 ปี ของสำนักข่าวออนไลน์พับลิก้า เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาของไทยในอนาคต

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเราควรเลิกการไล่ล่าตัวเลข GDP ในอัตราสูงๆ กันได้แล้ว โดยหันมาใช้ตัวเลขอื่นๆ ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของผู้คน เช่น ความมั่งคั่ง สาธารณสุข และการศึกษา ฯลฯ แทน

ทันใดนั้นก็มีท่านรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ขออนุญาตไม่เอ่ยนามได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อกระทบชิ่งไปที่ท่านผู้ว่าการว่าเรียนจบมาจากไหนหรือ? ถึงมาบอกว่าประเทศไทยไม่ควรไล่ล่า GDP

ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติมิได้ตอบโต้ แต่สื่อสังคมออนไลน์สำนักดังๆ ออกมาโต้แทนเป็นแผงว่า ท่านรัฐมนตรีทำไมพูดจาอย่างนี้เหมือนดูถูกดูหมิ่นท่านผู้ว่าการเพราะไปถามถึงสถาบันที่ท่านเรียนจบ

ผมเองก็พลอยติดตามอ่านข่าวและเปิดฟังบทตอบโต้ต่างๆ ไปกับเขาด้วย เพราะสนใจเรื่อง GDP อยู่แล้ว

ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมมาพอสมควร คงจะพอจำได้ว่าผมได้เขียนเตือนผู้บริหารประเทศทุกยุคทุกสมัยว่า “อย่าหลง” หรือ “เทิดทูน” GDP ว่าเป็น “พระเจ้า” หรือเป้าหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียวในการพัฒนาประเทศ

โดยเฉพาะ “ตัวเลข” GDP ของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วยนั้นเป็นตัวเลขที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุด เพราะในข้อเท็จจริงยังมีปัญหามากมายในการจัดทำ

แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วเต็มตัว และค่อนข้างเชื่อมั่นว่าตัวเลข GDP ของเขาจะใกล้เคียง หรือสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด…เขาก็ยังรู้สึกไม่ค่อยพอใจต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยเน้น GDP เท่าใดนัก

เพราะพบข้อเท็จจริงว่ายิ่ง GDP เพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็ว จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเขาเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลนั้น…“ส่วนแบ่ง” ของการพัฒนากลับไปตกอยู่ในกลุ่มคนรวยของประเทศมากกว่าลงไปสู่กลุ่มคนจน

เข้าทำนองยิ่งพัฒนาคนรวยยิ่งรวยขึ้น และคนจนยิ่งจนลง

สหรัฐอเมริกาเองก็เจอปัญหานี้…ประเทศเจริญแล้วในยุโรปหลายประเทศก็เจอปัญหานี้

จนในที่สุดก็เกิดแนวความคิดว่า GDP ไม่ควรจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศอย่างเดียวเท่านั้น…จะต้องดูถึงเป้าหมายอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเป้าหมายด้านการศึกษา การสาธารณสุข และ การอยู่ดีกินดีต่างๆ

ทำให้ สหประชาชาติ หันมาพูดถึง ดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ HDI มากขึ้นเรื่อยๆ และมีการนำออกมาเผยแพร่อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2553 หรือ ค.ศ.2010 เป็นต้นมา

ต่อมาก็มีดัชนีวัดความสุขโลกที่เรียกว่า World Happiness Index ออกมาเผยแพร่โดยสหประชาชาติเช่นกัน มีการสำรวจและจัดอันดับประเทศที่มีความสุขทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2017

เราคงได้ยินข่าวว่าฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขเป็นอันดับ 1 ของโลกมาถึง 5-6 ปีซ้อนๆ รวมทั้งปีล่าสุด 2024

เหล่านี้คือทิศทางการพัฒนาของโลกยุคนี้ มิใช่จะมุ่งอยู่แต่ GDP เท่านั้น

เหตุที่ต้องไปในแนวนี้ก็เพราะประเด็นที่ฮิตทั่วโลกในขณะนี้ และทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าเดินไปสู่ ก็คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” นั่นเอง

การมุ่งเน้นจะพัฒนาเศรษฐกิจโดยกระตุ้น GDP อย่างเดียว พิสูจน์แล้วว่า จะมีส่วนทำให้ “ไม่ยั่งยืน” เพราะถ้ายิ่งพัฒนาแล้ว คนรวยรวยขึ้น คนจนจนหนักลงไปอีก…จะยั่งยืนได้อย่างไร?

อ่านมาถึงตอนท้ายนี้แล้ว พอจะสรุปได้หรือยังครับว่าใครกันแน่ที่ควรได้รับคำถามว่าเรียนจบมาจากไหน? ระหว่างผู้ว่าการแบงก์ชาติกับท่านรัฐมนตรี?

“ซูม”

GDP มิใช่ “เป้าหมาย” สูงสุด “มนุษย์”, ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ, การพัฒนาที่ยั่งยืน, ดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, ความสุข,​ ข่าว, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก