แด่ “วงจันทร์ ไพโรจน์” ศิลปินแห่งชาติ “ค้างฟ้า”

ผมไปทราบข่าวว่า “วงจันทร์ ไพโรจน์” นักร้องหญิงขวัญใจตลอดกาลของผมท่านหนึ่ง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากลลูกทุ่ง) ประจำปี 2566

ขณะไปร่วมการประชุมกับคณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่สวนนงนุช พัทยา เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง

หากจะเขียนแสดงความยินดีต่อท่านชักช้าไปบ้างก็คงต้องขออภัยไว้ด้วย เพราะผมมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเขียนถึงท่านมาตั้งแต่อยู่ที่โน่นแล้ว

แรกๆ ที่ได้ยินว่า “จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร” เป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชู ผมก็ยังงงๆ อยู่ เพราะลืมไปแล้วว่า

นี่คือชื่อจริงของ วงจันทร์ ไพโรจน์ จนกระทั่งเมื่อฝ่ายข่าวของโทรทัศน์ช่องหนึ่งช่วยขยายความให้ว่าเจ้าของชื่อนี้คือ “วงจันทร์” นั่นแหละ…ผมก็ถึงกับร้องไชโยออกมาดังๆ

เหตุเพราะผมเป็นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริงของท่านคนหนึ่งมา 70 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ผมยังนุ่งกางเกงขาสั้นเรียนหนังสืออยู่ที่ จังหวัดนครสวรรค์ มาจนถึงปัจจุบันนี้

อีกทั้งได้เคยเขียนเรียกร้องผ่านคอลัมน์นี้หลายๆ ครั้งว่า เมื่อไรหนอ วงจันทร์ ไพโรจน์ จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติกับเขาเสียที

นักร้องรุ่นหลังท่านหลายต่อหลายคนได้รับการยกย่องไปเรียบร้อย แต่ไฉนหนอนักร้องที่ร้องเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” จนกลายเป็นขวัญใจของ “คุณครู” ทั่วประเทศรุ่นแล้วรุ่นเล่า…ถึงไม่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” กับเขาบ้าง

ไม่เฉพาะแต่เพลงอมตะ “แม่พิมพ์ของชาติ” เท่านั้นที่คนไทยรุ่นเก่าทั่วประเทศรู้จัก ท่านยังร้องเพลงฮิตที่ติดหูคอเพลงลูกทุ่ง

และต่อมาเพลงของท่านก็ได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงลูกกรุงด้วย สามารถนำมาใช้ร้องประกวดได้ทั้งรายการ “โกลเด้นซอง” ของ ช่องวัน 31 และ “รายการเพลงเอก” ของเวิร์คพอยท์ ช่อง 23

อาทิ เพลง กุหลาบเวียงพิงค์, ช่างร้ายเหลือ, บุษบาเสี่ยงเทียน, สาวสะอื้น, ถึงร้ายก็รัก, อุทยานดอกไม้, ไทรโยคแห่งความหลัง, แน่แล้วหรือ ฯลฯ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 เพลง

ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่เคยเขียนเรียกร้องว่าเมื่อไรจะถึงคิวของ วงจันทร์ ไพโรจน์ แม้แต่สมาคมด้านการศึกษาและบรรดาศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายๆ แห่งก็เคยเข้าชื่อเรียกร้องไปที่กระทรวงวัฒนธรรมมาแล้ว

ในช่วงที่มีการรณรงค์เรียกร้องว่า วงจันทร์ ไพโรจน์ ควรจะได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติอย่างกว้างขวางนั้น น่าจะประมาณ 20 ปีมาแล้วเห็นจะได้ และอายุอานามของท่านน่าจะเกิน 60 เกือบๆ 70 ปีแล้วล่ะ เป็นวัยที่เหมาะสมสำหรับการเชิดชู

แต่ก็เอาเถอะแม้จะต้องรอนานกว่าคนอื่นๆ อยู่บ้าง…ในที่สุดท่านก็ได้รับการยกย่องเมื่ออายุ 88 ปี

สำหรับเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่ฮิตที่สุดนั้น ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สุเทพ โชคสกุล จากประวัติที่ค้นได้ ระบุว่า แต่งขึ้นใน พ.ศ.2501…นอกจากจะขับร้องโดย วงจันทร์ ไพโรจน์แล้ว นักร้องหญิงรุ่นหลัง เช่น อรวี สัจจานนท์ และ ฝน ธนสุนทร ยังนำมาบันทึกเสียงใหม่ ได้รับความนิยมจากคนรุ่นหลังมิใช่น้อย

ขอบคุณคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 ที่กรุณาเลือก จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร เป็น 1 ใน 12 ท่านของศิลปินแห่งชาติปีนี้

ขอแสดงความยินดีอีกครั้งนะครับ สำหรับ “ศิลปินแห่งชาติค้างฟ้า” ซึ่งหมายถึงว่าควรจะได้รับการคัดเลือกมานานแล้วอย่างคุณพี่วงจันทร์ ไพโรจน์ ผู้เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง.

“ซูม”

แด่ “วงจันทร์ ไพโรจน์” ศิลปินแห่งชาติ “ค้างฟ้า”, สาขาศิลปะการแสดง, นักร้องเพลงไทยสากลลูกทุ่ง, จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร, เพลง แม่พิมพ์ของชาติ, ข่าว, ซูมซอกแซก