การพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยถึงไหนแล้ว?

ผมเพิ่งกลับจากการประชุมสัมมนากับคณะผู้บริหารของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 111 แห่ง ในหัวข้อ “โรงเรียนไทยรัฐวิทยากับความยั่งยืน” เดินมาที่โต๊ะเขียนหนังสือวันนี้…ยังมี กลิ่นอายของการพัฒนาที่ยั่งยืนติดตัวมาด้วยเลยครับ

ทำให้ยังรู้สึกกระหายที่จะเขียนถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” ต่ออีกสักวัน หลังจากนั่งลงที่โต๊ะทำงานหยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับต่างๆ ที่วางสะสมเป็นกองโต เพราะผมไม่อยู่เสียหลายวัน

ข่าวพาดหัวล้วนเป็นเรื่องของการ “ผสมพรรค” หรือที่ชาวบ้านแอบเรียกอย่างกระทบกระเทียบเปรียบเปรยว่า “ผสมพันธุ์” ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

จะ “ผสม” ออกมาได้ลงตัวกลมกล่อมแค่ไหน? มีคนดีมีฝีมือหน้าใหม่มาช่วยพัฒนาชาติ? ให้ยั่งยืนได้เพียงใด คงต้องลุ้นอีกสักวันสองวัน

ก่อนไปร่วมสัมมนาผมเขียนถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ประกาศเมื่อ ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 ทั้งหมด 17 เป้าหมาย เพื่อให้ประเทศสมาชิก 193 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมและให้การรับรองเพื่อนำไปปฏิบัติให้บรรลุผลในระดับหนึ่งใน ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 ประมาณ 6 ปีข้างหน้านี้

ล้วนเป็นเป้าหมายที่งดงาม ท่านผู้อ่านคงจำได้หากทุกๆประเทศ ทุกๆ ชาติดำเนินการตามนี้ได้อย่าง “บูรณาการ” รับรองจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศอย่างแน่นอน

แต่คำถามก็คือ…ประเทศทั่วโลกที่รับหลักการจากสหประชาชาติไปทำมาเป็นเวลา 9 ปีเต็มๆ แล้วนั้น…ทำไปมากน้อยเพียงไร? และแค่ไหน?

ในสายตาของผมเท่าที่ติดตามข่าวคราว และเคยไปดูงานมาบ้างที่ฟินแลนด์ ที่สวีเดน ที่เดนมาร์ก เมื่อ 4-5 ปีก่อน พร้อมกับเพื่อนๆสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ตามคำเชิญของ ปตท. …จำได้ว่ากลับมาเขียนถึงด้วยความดีใจที่พบว่าประเทศต่างๆ ในยุโรปกระตือรือร้นมาก

โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหาพลังงานสะอาดในราคายุติธรรมที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ไปจนถึงการวางแผนรับการแปรเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรทางทะเลอย่างเอาจริงเอาจัง

เผอิญประเทศที่เราไปเยือนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องความยากจน ความอดอยาก เรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เพราะเขาทำกันมานานแล้วจนเกิดผลดี และมีส่วนในการสร้าง “ความยั่งยืน” ได้อย่างยอดเยี่ยม แทบไม่ต้องไปเร่งกระทำเพิ่มเติมอีกเลย

“เป้าหมาย” ในการทำงานของประเทศเจริญแล้ว จึงลดลงจาก 17 ข้อ เหลือเพียงหลักๆ 4-5 ข้อเท่านั้น

เขาจึงมีเวลาและมีขุมกำลังลงไปดำเนินการ ทำให้การพัฒนาของเขายั่งยืนได้มากกว่าของเรา ซึ่งต้องแบกหลังแอ่นเกือบทั้ง 17 ข้อ

เริ่มตั้งแต่แก้ปัญหายากจน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนจนมากพอสมควร, ปัญหาความหิวโหยอาจลดไปเยอะแต่ยังพอมีอยู่บ้างในชนบท

ถามว่าปัญหาความเหลื่อมลํ้าเป็นอย่างไรบ้าง? ตอบว่ายังเยอะเลย ทั้งเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ ยิ่งพัฒนาคนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน ฯลฯ ไปจนถึงความเหลื่อมลํ้าอีกสารพัด

ผมไม่แน่ใจว่าของเราจะเข้าไปใกล้เป้าหมายที่สหประชาชาติกำหนดไว้แค่ไหน? เพียงใด? แม้เราจะทำตามเป้าหมายอย่างขะมักเขม้นในหลายๆ เรื่อง และทุกเรื่องๆ เราทำมาก่อนปี ค.ศ. 2015 หรือปี พ.ศ.2558 ทั้งสิ้น

ผมจึงรู้สึกเห็นใจและขอให้กำลังใจแก่ทุกๆ ท่าน ทุกๆภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะ “ร่วมมือกัน” ทำให้การพัฒนาประเทศของเราในทุกๆด้านไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ยิ่งมาเจอสภาพการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เดี๋ยวเต็มใบเดี๋ยวครึ่งใบ พอจะเข้าที่พอจะเดินหน้าได้บ้าง ก็เจอปัญหาต้องสะดุดซะอีกแล้ว…การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่างๆ จึงเป็นไปได้ยาก

รวมทั้งรัฐบาลใหม่ชุดนี้ด้วยครับ อย่าหวังให้มาช่วยการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายสหประชาชาติเลยครับ…เอาตัวเองให้ยั่งยืนอยู่รอดไปครบหนึ่งปี ยังไม่รู้จะทำได้หรือเปล่าเลย.

“ซูม”

การพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยถึงไหนแล้ว?, ไทยรัฐ, การเมือง, รัฐบาล, ปัญหายากจน, ข่าว, การเมือง, ข่าววันนี้, ข่าวล่าสุด, ซูมซอกแซก