วันนี้ผมคงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านหลบฉากจากข่าวการเมือง เรื่องร้อนๆ ว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสม “อิ๊งค์ 1” ที่หลายๆ ฝ่ายอยากให้จบเร็วๆ แต่อาจไม่เร็วอย่างที่คาดไว้
เพื่อที่จะเขียนถึงการจากไปอย่างกะทันหันและไม่คาดคิดมาก่อนของ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ นักร้องเพลงลูกกรุงที่ส่งเสียงกล่อมกรุง และกล่อมประเทศไทยมาไม่ตํ่ากว่า 70 ปี
เป็นขวัญใจ และเป็นนักร้องในดวงใจของคนกลุ่ม Silent Generation ที่เกิดระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 มาจนถึงกลุ่ม Baby Boomer ที่เกิดหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 หรือกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จนถึง 100 ปี ที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนี้
ผมเป็นแฟนคลับของ ชรินทร์ นันทนาคร ตั้งแต่ยังใช้นามสกุล “งามเมือง” ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงโด่งดังหลายๆเพลง และที่ดังที่สุดคือเพลง “ทาสเทวี” ขณะที่ผมอายุประมาณ 15-16 ปี กำลังแตกเนื้อหนุ่ม และเริ่มฝันถึงความรัก
จำได้ว่าเพลงนี้ฮิตมาก และหนุ่ม “แตกพาน” อย่างพวกเราจะร้องตามได้ทุกคน…ทั้งร้องเพลงทั้งอ่านข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวว่า ชรินทร์ งามเมือง (นามสกุลขณะนั้น) ผู้หาญ “เด็ดดอกฟ้า” ต้องประสบชะตากรรมจนกลายเป็นตำนานแห่งความรักที่กล่าวขานไปทั้งประเทศ
เมื่อชอบไปเสียแล้ว เพลงหนึ่ง…เพลง 2 เพลง 3 ก็ตามมา เช่น เพลง “ที่รัก” (นานแล้วพี่หลงพะวงมิหน่าย นานแล้วพี่หมายจะได้ภิรมย์), “เพราะขอบฟ้ากว้าง” (ป่านนี้แก้วตานิจจาคอยพี่…)
มาจนถึงเพลงที่ปลุกใจให้ฮึกเหิมคึกคัก “ผู้ชนะสิบทิศ” (ฟ้าลุ่มอิรวดีคืนนี้มีแต่ดาว…ที่ ไสล ไกรเลิศ นั่งแต่งที่ร้านอาหารของเทศบาลนครกรุงเทพฯ บริเวณท่าช้างวังหน้า มองไปที่แม่นํ้าเจ้าพระยา พร้อมกับจินตนาการว่าเป็นแม่นํ้าอิรวดี)
จำได้อีกว่าช่วงที่ผมมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ.2011-2012 ทั้งที่เป็นหนุ่มใหญ่แล้ว แต่ความเหงาความคิดถึงบ้าน และการเรียนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่อยากร้องไห้เป็นที่สุด ก็ได้อาศัยเพลง “ไกลบ้าน” (วิปโยคโศกใจเหมือนเมื่อไกลบ้านไกลสถานพักพิงยิ่งใจเหงา) ของพี่นี่แหละมาร้องปลอบใจ
ส่วน “หยาดเพชร” เพลงจากภาพยนตร์เรื่อง “เงินเงินเงิน” นั้น ผมมาชอบภายหลังเมื่อกลับจากนอกมาทำงานเขียนหนังสือแล้ว ยังเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้และเพลงนี้ ที่ผมรู้เบื้องหลังว่า ชาลี อินทรวิจิตร บรรจงแต่งให้แก่ ชรินทร์ ที่มาเปิดเผยความในใจกับเขาว่า แอบรักแอบชอบ เพชรา เชาวราษฎร์ อยู่ ช่วยแต่งเพลงให้เขาสักเพลงเถอะ
ต่อมา…เขากับ เพชรา ก็กลายมาเป็น “คู่ชีวิต” ที่ดูแลซึ่งกัน และกันมาจนถึงวันนี้
ผมมารู้จักกับชรินทร์ หรือที่บุคคลในวงการเรียกว่า “พี่ฉึ่ง” ชื่อเล่นของเขาเมื่อมาอยู่ ไทยรัฐ แล้ว ประมาณปี 2515 และได้มีโอกาสเขียนถึงพี่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเบื้องหลังของเพลง “สดุดีมหาราชา”
ในช่วงหลังๆ แม้อายุอานามจะ 80 กว่าๆ แล้ว ชรินทร์ นันทนาคร ก็ยังออกแสดงคอนเสิร์ตประจำปี ที่เรียกว่า “ชรินทร์ อินคอนเสิร์ต” ติดต่อกันมาโดยตลอด
ซึ่งผมก็เขียนให้กำลังใจผ่านคอลัมน์ซอกแซก และเสาร์สารพันแทบทุกครั้ง และบางครั้งก็จะแวะไปนั่งเชียร์พี่ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทยด้วยตนเอง
ช่วงที่พี่อายุใกล้ๆ 90 ก็ยังเห็นมาออกรายการทางทีวี หรือเป็นแขกรับเชิญรายการสำคัญอยู่ 2-3 ครั้ง…ยังรู้สึกดีใจที่ได้ฟังเสียงพี่ที่แม้จะสั่นไปบ้างตามวัย แต่ก็ยังเพราะจับใจเหมือนเดิม
ในที่สุด เมื่อวันอังคารที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง สัก 9 โมงเช้าได้กระมัง ก็มีข่าวแพร่ในสำนักข่าวออนไลน์ทุกสำนักว่าพี่จากไปแล้วอย่างสงบด้วยโรคชราในวัย 91 ปี หลังจากเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจอยู่ระยะหนึ่ง
แม้จะรู้ว่าอย่างไรเสีย “วันนี้” จะต้องมาถึง เพราะไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงพ้น…แต่ในฐานะแฟนเพลงที่เป็นแฟนพี่มาตั้งแต่ยังไม่รู้จักกัน จนรู้จักกัน และมีโอกาสได้เขียนถึงพี่หลายต่อหลายครั้ง ก็อดเสียมิได้ที่จะรู้สึกใจหาย…อาลัย อาวรณ์อย่างสุดที่จะพรรณนาใดๆ ได้
เป็นสุขเถอะครับ “พี่ฉึ่ง” “ชรินทร์ งามเมือง” หรือ “ชรินทร์ นันทนาคร”…หลับให้สบายนะครับพี่ครับ.
“ซูม”