จับตา “สิงหา” ว้าวุ่น จาก “ไทย” ถึง “อิสราเอล”

นึกว่าเดือนสิงหาคมปีนี้จะมีเรื่องร้อนๆ เฉพาะในประเทศไทยเรา คือวันที่ 7 สิงหาคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมลงมติว่า พรรคก้าวไกลจะอยู่หรือไป

และวันที่ 14 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญเช่นกันจะลงมติว่าท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะอยู่หรือไป

ที่ไหนได้ “โลกเรา” โดยเฉพาะย่านตะวันออกกลางก็เกิด “ภาวะรุ่มร้อน” ขึ้นอย่างกะทันหัน และล่าสุดขณะผมเขียนต้นฉบับวันนี้ อาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม เว็บ BBC ก็ขึ้นพาดหัวใหญ่พร้อมรายงานข่าวว่า

สหรัฐฯ แนะให้พลเมืองของตนเดินทางออกจาก “เลบานอน” ในทันทีที่หาตั๋วเครื่องบินได้ ในขณะที่ สหราชอาณาจักร และ จอร์แดน ก็บอกกับประชาชนของตนในทำนองเดียวกัน

เรื่องร้อนๆ ในบ้านเราทั้ง 2 เรื่องเป็นข่าวพาดหัวหน้า 1 ไทยรัฐ และสื่อทุกฉบับมาหลายวันแล้ว มีบทวิเคราะห์มีการพูดถึงเขียนถึงโดยผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองของบ้านเราไปเยอะแล้ว…ผมยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมอะไรในช่วงนี้ จึงขออนุญาตผ่านไปก่อน

มาพูดถึงเรื่องร้อนๆ ระดับโลกที่เกิดขึ้นที่ตะวันออกกลางกันดีกว่า

ความจริงสงครามอิสราเอลกับอาหรับเกิดขึ้นมานานมากแล้ว เรียกว่า ตั้งแต่สหประชาชาติมีมติให้มีประเทศอิสราเอล ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อ ค.ศ.1947 หรือ พ.ศ.2490 เพื่อให้ชาวยิวได้มีประเทศเป็นหลักแหล่ง

เพียงปีเดียวเท่านั้นก็มีการสู้รบกันขึ้นแล้ว ระหว่างยิวกับประเทศอาหรับที่อยู่รอบๆ และสู้รบกันเรื่อยมา หนักบ้างเบาบ้าง จนถึงปัจจุบัน

มาหนักหน่วงอีกทีก็เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เมื่อกลุ่มติดอาวุธ “ฮามาส” ในฉนวนกาซาบุกเข้าโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอล สังหารชาวอิสราเอลไปกว่า 1,000 ราย และจับตัวประกันซึ่งมีคนไทยเราด้วย รวมทั้งสิ้น 253 ราย ไปคุมขังไว้ในฉนวนกาซา

เป็นสาเหตุของสงครามระลอกใหม่เมื่อฝ่ายอิสราเอลตัดสินใจบุกฉนวนกาซา นัยว่าเพื่อทำลายรังของกลุ่มติดอาวุธฮามาสให้สิ้นซาก…หนักหน่วง รุนแรงมาจนถึงวันนี้

จนเมืองใหญ่ๆ ในฉนวนกาซาถูกทำลายยับเยิน ผู้คนชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพหนีภัยสงครามโกลาหลอลหม่าน และเสียชีวิตประมาณ 4 หมื่นคน จากรายงานล่าสุด

ระหว่างบุกเข้าฉนวนกาซา อิสราเอลก็เปิดศึกกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอิซบอลเลาะห์ที่อยู่ใน เลบานอน ประเทศรั้วติดกันไปด้วย

ยิงตอบโต้กันไปมา และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันอิสราเอลก็ส่งเครื่องบินรบไปสังหารบุคคล “ระดับหัวหน้า” ของฮิซบอลเลาะห์รายหนึ่ง สร้างความตึงเครียดทางชายแดนด้านนี้ขึ้นมาอีกด้วย

จากนั้นก็เกิดเหตุใหญ่ขึ้นอีก เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมหมาดๆ นี่เอง เมื่อผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส นาย อิสมาอิล ฮานิเยห์ ที่ไปร่วมพิธีสาบานตนของนาย มาซูด เปเซชเคียน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน ถูกสังหารในที่พักรับรองกลางกรุงเตหะราน

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นฝีมือใคร แต่ก็มีหลักฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือของอิสราเอล แม้จะยังไม่ออกมารับหรือปฏิเสธก็ตาม

เป็นผลให้ท่านผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี รู้สึกเสียหน้า และประกาศจะเอาคืนอิสราเอลในเร็วๆ นี้

และแล้วในคืนวันเสาร์ที่ 3 ส.ค. ก็มีข่าวว่า กลุ่ม ฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน เปิดฉากยิงจรวดใส่เมือง ไบต์ฮิลเลล ทางตอนเหนือของอิสราเอลเป็นการโหมโรงแล้วหลายสิบลูก…มีรายงานด่วนจากภาคสนามว่าอิสราเอลสกัดได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีความเสียหายบางส่วน

จากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีข่าวตามมาว่า สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งจอร์แดนด้วย สั่งให้ประชาชนของตนที่ไปอยู่ในเลบานอนเดินทางออกโดยด่วน ดังที่ บีบีซี รายงานไว้ ก็ยิ่งทำให้ความกังวลใจของผู้สังเกตการณ์เพิ่มขึ้นไปอีก

แน่นอนถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง โลกเราทั้งโลก จะว้าวุ่นแน่นอน เพราะแหล่งผลิตนํ้ามันอยู่ที่นี่ การขนส่งนํ้ามัน ทั้งต้องผ่านและต้องไปจากที่นี่ มีเรื่องยุ่งเมื่อไร ราคานํ้ามันกระฉูดเมื่อนั้น

มีผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจทั่วโลกแน่นอน รวมทั้งไทยเราด้วย

ผมถึงเรียนท่านผู้อ่านว่า เรื่องร้อนๆ ในเดือนสิงหาคมไม่ใช่จะมีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ร้อนที่สุดก็เห็นจะเป็นตะวันออกกลางนี่เอง…อย่าลืมว่าเรายังมีแรงงานไทยอยู่ที่โน่น 3 หมื่นคนนะครับ.

“ซูม”

จับตา “สิงหา” ว้าวุ่น จาก “ไทย” ถึง “อิสราเอล”, สงคราม, ตะวันออกกลาง, เลบานอน, ฉนวนกาซา, เศรษฐกิจ, ราคาน้ำมัน, ข่าวต่างประเทศ, ข่าววันนี้, ข่าวล่าสุด, ซูมซอกแซก