ประมาณสักหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพลงไทยลูกทุ่งที่ฮิตพอสมควรอยู่เพลงหนึ่งในยูทูบ ทำสถิติมีคนเข้าฟัง 1 ล้านวิวเศษ เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด น่าจะทะลุ 2 ล้าน 3 ล้านวิว ในเวลาไม่นานนัก
เป็นเพลงเย็นๆ อ่อนๆ หวานๆ แต่ปลุกใจและให้กำลังใจคนยาก คนจนได้อย่างลึกซึ้ง ได้แก่เพลง “ผู้หญิงหัวใจอีสาน” ขับร้องและบันทึก MV โดย ต่าย-อรทัย ราชินีลูกทุ่งตัวจริงเสียงจริง
เนื้อหาของเพลงบรรยายถึงคุณลักษณะของลูกสาวชาวอีสาน ที่เติบโตมากับความยากจน ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากตั้งแต่เด็กๆ
ก่อนจะมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่อย่างไม่ย่อท้อ โดยอาศัยเสียงเพลงและวัฒนธรรมอีสานเป็นแรงบันดาลใจและปลอบใจ
เนื้อร้องท่อนที่ผมชอบที่สุด ได้แก่ ท่อนที่ว่า “ความจนบ่อนุญาตให้เราอ่อนแอ ความพ่ายแพ้ก็มิได้แปลว่าต้องหมองหม่น หมอลำเสียงแดนเสียงพิณเป็นวิตามินเสริมความดิ้นรน บ่ลืมให้เกียรติความจน เมื่อก้าวพ้นทางเดินกันดาร”
ฟังปุ๊บก็รู้เลยว่าสำนวนแบบนี้ คือ “ยี่ห้อ” หรือ “สัญลักษณ์” ของ ครู “สลา คุณวุฒิ” ที่มีข่าวว่าทุ่มเทแต่งเพลงเพื่อสรุปการต่อสู้ของพี่น้องชาวอีสาน ผ่านชีวิตจริงของ ต่าย-อรทัย อีกครั้ง
เป็น EP สุดท้ายของเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” ว่าอย่างนั้นเถิด
ท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรคงจะพอจำได้ว่าผมเขียนชื่นชมแนวคิดและวิธีการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนของ “ครูสลา” มาตลอด
เริ่มจากการมองโลกในแง่ดี ไม่มีความคิดความแค้นที่ต้องเกิดมายากจน เพราะถ้ามีความคิดความแค้นเสียแล้ว ก็จะหันไปใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด
ในทางตรงข้าม ครูสลาจะแนะให้ยอมรับความจนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความแข็งแกร่งความขยันขันแข็งความอดทน เต็มร้อย ซึ่งจะเป็นการต่อสู้เอาชนะความยากจนที่ถูกต้องที่สุด
เมื่อนำมาให้ ต่าย—อรทัย ที่ผ่านความยากจน มาด้วยตนเองเป็นผู้ร้อง จึงได้ทั้งอารมณ์ และ “ความคาดหวัง” ที่ครูสลาอยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทยไปพร้อมๆกัน
ที่ผมชื่นชม “ผู้หญิงหัวใจอีสาน” เป็นพิเศษและเปิดฟังแล้วฟังอีกก็เพราะงวดนี้ครูสลาท่านใช้วงออเคสตรา วงใหญ่มาบรรเลงร่วมกับเสียงแคนเสียงพิณ ดนตรีพื้นบ้านอีสานได้อย่างกลมกลืน
ทำให้เพลงทั้งเพลงมีความยิ่งใหญ่และยกระดับเพลงลูกทุ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
นอกจากใช้วงดนตรีคลาสสิกวงใหญ่มาบรรเลงประกอบดังกล่าวแล้วการให้แดนเซอร์แต่งชุดอลังการมาเต้นเชิงลีลาประกอบไปด้วยก็ยิ่งทำให้ MV โดดเด่นขึ้นไปอีก
ช่วงที่ต่ายร้องว่า “ความจนบ่อนุญาตให้เราอ่อนแอ” มีการใช้ภาษามือเป็นเชิงยกขึ้นห้ามคือไม่อนุญาตแล้วก็พุ่งมือลงอย่างอ่อนช้อย ซึ่งเป็นความหมายของอ่อนแอได้อย่างกลมกลืน
แม้เนื้อเพลงส่วนใหญ่จะเน้นความยากจนของภาคอีสานและปลุกใจให้สู้ความจนในแบบอีสาน แต่ผมก็มองว่าสามารถใช้เพลงนี้ในการแก้ความยากจนและปลอบใจคนจนได้ในทุกภาค
โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งประเทศไทยของเราต้องพลอยรับผลกระทบไปด้วย และต้องเผชิญกับความยากจนกันทั่วหน้า ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก
ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และจะใช้เงินถึง 4 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งก็อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้สักระยะหนึ่งและวาบเดียวเท่านั้น
แต่ในที่สุดก็จะกลับมายากจนกันเหมือนเดิม
จึงจะต้องหาทางปลุกปลอบใจหาทางต่อสู้ความจนด้วยความขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ไม่อ่อนแอ ไม่หมองหม่น ยามเหนื่อยก็ปลอบใจด้วย “วิตามิน” ของแต่ละภาคที่แตกต่างกันไป
ของอีสานเขาใช้เสียงร้องหมอลำ และเสียงพิณเสียงแคน..ของภาคอื่นๆ เช่นภาคใต้ ก็หันมาใช้หนังตะลุง มโนราห์ ฯลฯ หรือภาคกลางก็ใช้เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือร้องลิเก ลำตัด เป็นต้น
ขอบคุณอีกครั้งครับ “ครูสลา” และ “ต่าย-อรทัย” สำหรับเพลง “ผู้หญิงหัวใจอีสาน” ที่ออกมาทันเวลาพอดีกับที่รัฐบาลนี้ท่านบอกจะแจกเงินดิจิทัลแน่ๆ…อันจะเป็นผลให้ในอนาคตหนีความจนไม่พ้น มีโอกาสร้องเพลงปลอบใจทุกๆ ภาคแน่นอนครับ.
“ซูม”