“จิตสำนึก” ทางการคลัง ของนักการคลัง “รุ่นเก๋า”

เมื่อเร็วๆ นี้เอง…ประสาคนแก่ขี้เหงานั่งเขียนหนังสืออยู่คนเดียวที่บ้าน พอเขียนเสร็จส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์เรียบร้อย…

ผมก็หาทางแก้เหงาด้วยการเข้า “กูเกิล” ดูโน่นดูนี่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าเคาะไปเคาะมาก็ไปเจอรายชื่อของ ปลัดกระทรวงการคลัง ยุคเก่าๆ โผล่ออกมาให้อ่านโดยไม่ตั้งใจ

ผมเข้าใจว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นกระทรวงเก่าแก่มากคู่ประเทศไทยมานานนักหนา น่าจะมีรายชื่อท่านปลัดกระทรวงการคลังมากกว่าที่บันทึกไว้ใน “วิกิพีเดีย” สารานุกรมเสรี ล่าสุด

แต่ก็เอาเถิดจะผิดจะถูกอย่างไรเอาไว้ว่ากันทีหลัง…พอเห็นรายชื่อท่านแรกแล้วผมก็รีบอ่านต่อทันทีจนถึงท่านสุดท้าย

พร้อมกับได้แรงบันดาลใจบางประการนำมาสู่การเขียนคอลัมน์วันนี้

5 ท่านแรกซึ่งเป็นรุ่นอาวุโส ได้แก่ 1.เสริม วินิจฉัยกุล (20 พฤษภาคม 2497-7 กรกฎาคม 2508), 2.บุญมา วงศ์สวรรค์ (1 สิงหาคม 2508-31 ตุลาคม 2516), 3.สนั่น เกตุทัต (1 พ.ย.2516-3 ก.พ.2518), 4.อำนวย วีรวรรณ (16 เมษายน 2518-12 ตุลาคม 2520), 5.ชาญชัย ลี้ถาวร (22 พ.ย.2520-30 ก.ย.2525)

ล้วนแล้วแต่เป็น “ปูชนียบุคคล” ด้านการคลังของประเทศไทยที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการคลังรุ่นหลังๆ ยึดเป็น “ไอดอล” ทั้งสิ้น

เป็นผู้วางรากฐานด้าน วินัยการคลัง และใช้ การคลัง เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศอย่างสมเหตุสมผล และเกิดผลดีต่อประเทศไทยของเรามาจนถึงบัดนี้

จริงแล้วในรายชื่อดังกล่าวนี้น่าจะมีท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมอยู่ด้วย ในฐานะที่ท่านเป็น “ไอดอล” ทั้งในฐานะนักการคลังและนักการเงินของประเทศไทยระดับต้นๆ ท่านหนึ่ง

แต่เนื่องจากท่านอาจารย์ป๋วย แม้จะเคยเป็นอธิบดีหลายกรมในกระทรวงการคลัง แต่ท่านก็มิได้อยู่จนถึงได้เป็นปลัดกระทรวงเพราะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อนนั่นเอง

ผมเองโชคดีที่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ลูกหาของหลายท่าน หรือไม่ก็ได้อ่านบทความหรือได้ฟังการบรรยายของบางท่านบ่อยๆ ครั้ง

รวมทั้งได้มีโอกาสทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ติดตามเจ้านายไปประชุมในคณะกรรมการต่างๆ ที่มีท่านเหล่านี้เป็นกรรมการ

ยืนยันได้ว่าทุกท่านเป็นนักการคลังที่ทันสมัย ไม่ใช่ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ดังเช่นในอดีตกาล…ท่านเหล่านี้เห็นด้วยกับการลงทุนใหม่ๆ ทันสมัย เพื่อการพัฒนาประเทศและพร้อมที่จะหาเงินมาสนับสนุนการพัฒนานั้นๆ

แต่ทุกท่านก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะต้องใช้เงินหลวงทุกบาททุกสตางค์อย่างมีคุณค่าอย่างสมเหตุสมผลและอย่างเคารพประชาชนผู้เสียภาษีอากร

ท่านจึงช่วยกันสร้างระบบความโปร่งใสทางการคลัง, ระบบการตรวจสอบการใช้เงินหลวงในแง่มุมต่างๆ เป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้

ในบางยุคบางสมัยอาจมีนักการเมืองที่เข้าใจระบบการคลังน้อยกว่าพวกท่าน หรืออาจมีเลศนัยที่จะใช้เงินหลวงอย่างไม่เคารพต่อประชาชนผู้เสียภาษี…เราก็มักได้ยินข่าวการประท้วงการไม่เห็นด้วยจากท่านเหล่านี้อยู่เนืองๆ

แสดงให้เห็นว่านักการคลังรุ่นเก่าไม่เพียงแต่จะมี “วินัยทางการคลัง” อย่างเคร่งครัดเท่านั้น ยังมี “จิตสำนึก” ทางการคลัง คือการใช้เงินภาษีอากรของราษฎรอย่างสมเหตุสมผลควบคู่ไปด้วยจนกลายเป็นคุณสมบัติของนักการคลังที่ควรแก่การยกย่อง

ทุกวันนี้นักการคลังไทยรุ่นใหม่ต้องเจอกับปัญหาการกดดันจาก “รัฐบาล” ในเรื่องนโยบายการคลังอย่างใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่ง ว่าด้วยการหาเงินมาแจกตามโครงการดิจิทัล 1 หมื่นบาท อะไรที่ว่า

ผมเป็นคนรุ่นเก่าอาจคร่ำครึล้าสมัย จึงไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนี้มาตั้งแต่ต้นและมองว่าวิธีการเช่นนี้ เสี่ยงเกินไปกับสถานการณ์คลังของประเทศ

แต่จะขอให้นักการคลังรุ่นใหม่แสดงความเห็นโต้แย้งก็ไม่กล้า เพราะดูท่านขมีขมันเหลือเกิน และไม่มีข่าวว่าท่านใดจะแสดงความเห็น อะไรที่ต่างไปจากรัฐบาล

ก็ได้แต่จุดธูปฝากความไปถึงวิญญาณขุนคลังรุ่นเก่าที่เอ่ยชื่อข้างต้น ได้โปรดพิจารณาด้วยหากท่านเห็นว่านโยบายรัฐบาลนี้ถูกต้องก็แล้วไปเถิด…แต่ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง โปรดดลบันดาลและช่วยปกปักรักษาประเทศไทยของเราด้วยนะครับ.

“ซูม”

จิตสำนึก, ทางการคลัง, ของนักการคลัง, รุ่นเก๋า, การเงิน, ภาษี, วินัยทางการคลัง, รัฐบาล,​ นโยบาย, แจกเงิน, โครงการดิจิทัล 1 หมื่นบาท, ข่าว, ช่าววันนี้, ข่าวล่าสุด, ซูมซอกแซก